portrait by commonbooks, อุเทน มหามิตร

“ร่างกายของงานเขียน/เนื้อตัวของนักเขียน”

illman
15 min readMay 28, 2021

--

: Extended Version

เรื่อง : พนา เพชรสัมฤทธิ์

เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ : พนา เพชรสัมฤทธิ์, commonbooks
ภาพพอร์ตเทรต : commonbooks, อุเทน มหามิตร

ผมรู้จักพี่แสบ ( อุเทน มหามิตร) จากชั้นหนังสือทำมือที่ร้านเล่า จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่มาเริ่มคุ้นเคยเมื่ออุเทนได้นำงานเพ้นต์ลงมาแสดงที่กรุงเทพฯ จำได้ว่าพบเจออุเทนตัวเป็นๆ ถึงหลายครั้งตามนิทรรศการต่างๆ อาทิเช่น วัตถุพยานทางกายภาพ (INK & LION Café, 2559) ฯพณฯ ท่านแมวดำซุกไซ้ชะตากรรม (Books & Belongings, 2563) จนกระทั่งงานล่าสุด ภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศ (VS Gallery, 2563) ที่สนิทชิดเชื้อกันถึงขั้นไปช่วยรับแขก ติดตั้ง และรื้อถอนงาน และแน่นอน ผม — พนา เพชรสัมฤทธิ์ (2534-) ดีใจอย่างยิ่งที่ทางสำนักพิมพ์ commonbooks ได้ชักชวนมาพูดคุยในวาระโอกาสที่ อุเทน มหามิตร ได้รับรางวัลศิลปินร่วมสมัยดีเด่น “ศิลปาธร” ครั้งที่ 6 ประจำปี 2563 ในสาขาวรรณศิลป์ ซึ่งช่วงเวลาที่เรานัดหมายพูดคุยแลกเปลี่ยนคือถัดจากกิจกรรมเสวนาภายใต้โครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านบทสนทนาชิ้นนี้ อยากชวนให้ผู้อ่านไปรับฟังกิจกรรมนั้นร่วมด้วย และอาจจะเท้าความบางส่วนมาประกอบในบทสนทนา

อุเทน มหามิตร (2518-) กวี นักเขียน และเพ้นเตอร์ เติบโตและอาศัยอยู่ที่จังหวัดพะเยา สำเร็จการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ณ ที่แห่งนั้น เนื้อตัวของการเขียนของอุเทนได้ถูกประกอบสร้างขึ้น มีผลงานตีพิมพ์จำนวนมากในรูปแบบหนังสือทำมือกับเหล็กหมาดการพิมพ์ ที่เขาก่อตั้งขึ้นและลงมือทำมันทุกกระบวนการตั้งแต่เขียน บรรณาธิการ ทำภาพประกอบ พิสูจน์อักษร จัดหน้า เรียงพิมพ์ เข้าเล่ม และจัดจำหน่าย อีกทั้งยังมีผลงานตีพิมพ์กับหลายสำนักพิมพ์ เล่มที่หลายคนจดจำคงหนีไม่พ้น ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ (2550, สมมติ) ที่เข้ารอบชิงรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประเภทกวีนิพนธ์ ในปีเดียวกันนั้น เขาได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทกวีนิพนธ์ จากงานมหกรรมหนังสือทำมือ จัดโดยเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย จากใกล้กาลนาน (2550, นฆ ปักษนาวิน) และที่เป็นที่ฮือฮาในวาระโอกาสนี้คงไม่พ้น ทางแยกเวลาในหน้าต่าง (2562, P.S.) ที่อุเทนใช้กลวิธีจัดเรียงแบบสมมาตรทำให้สามารถอ่านแบบย้อนหลัง (reverse poem) ได้ทุกประโยค ทุกตัวบท นอกจากงานกวีนิพนธ์แล้ว อุเทนยังผลิตงานประเภทเรื่องสั้นและเรื่องสั้นขนาดยาว (flash fiction) อาทิเช่น ภวาภพ (2547, สเกล) ระคนคนละละคร (2550, หนึ่ง) หยากไย่ไรเรื้อน (2558, สมมติ) 50 Fuel Romance วอนท์เชื้อเพลิงโรมานซ์เว่อร์ (2561, P.S.) รวมไปถึง เลื่อย (2561, commonbooks) ที่เป็นผู้ริเริ่มก่อไฟในบทสนทนาต่อจากนี้

ในปี 2563 ผมได้มีโอกาสสนทนา พบปะกับอุเทนหลายต่อหลายครั้ง แต่ผมก็ไม่เคยได้ถามไถ่เรื่องสุขภาพร่างกายกับเขาเท่าไหร่นัก มีช่วงหนึ่งที่บทสนทนาขาดหายไปเป็นเดือนๆ แต่อุเทนโผล่มาในโลกเสมือนพร้อมกับหนังสือเล่มใหม่ โลกเหลือแค่เราแล้วนะคนดี ผมถึงได้รู้ว่าช่วงเวลาที่เขาหายเงียบไปนั้น เขากำลังต่อสู้กับสุขภาพร่างกายของตัวเอง ในบทสนทนายาวนานนับห้าชั่วโมงที่ถูกถอดมาเป็นบทสัมภาษณ์ในสายตาทุกท่านขณะนี้ จึงมีทุกเรื่องราวที่เขา — อุเทนพอจะเล่าให้เราฟังได้

“ผมเคยอยากมีชีวิตถึงอายุสามสิบกว่า ตอนนี้ผ่านมาอายุสี่สิบกว่าแล้ว”

ภาพปก โลกเหลือแค่เราแล้วนะคนดี ( 2563,เหล็กหมาดการพิมพ์ )

พาร์ท 1 : ”กล้ามเนื้อ หัวใจ ปากท้อง และการเดินทางของเหล็กหมาด”

พนา : ถามเรื่องสุขภาพก่อนเลย สนใจว่าอาการการป่วยมันมาจากการเขียนใช่ไหม รู้อยู่แล้ว หรือดื้อ หรือเพิ่งมาตรวจเจอ

อุเทน : ผมดื้อ เป็นตั้งแต่ตอนเรียนปีสี่แล้ว ถ่ายเป็นเลือด เพื่อนแบกไปที่โรงพยาบาลสวนดอกน่ะ หมกมุ่นกับการทำงาน ไอ้ก้อนริดสีดวง ลำไส้ แล้วก็กระเพาะ

พนา : จากสูจิบัตรงานนิทรรศการงานเพ้นต์แล้วผมเพิ่งรู้ว่าสิ่งนี้มาจากที่อุเทนป่วยด้วย จำไม่ได้ว่าซีรี่ส์ไหน กิริยาการเขียนมันทำให้ป่วยขนาดนี้แล้วก็ยังดื้อดึงที่จะปะทะกับมัน เอากันไปข้างนึงเลยใช่ไหม

อุเทน : ทำให้มันจบเล่มไป

พนา : แต่สำหรับกิริยาการเขียน อุเทนต้องใช้พื้นที่ที่นึงเพื่ออยู่กับมันยาวๆ เพื่อซัดให้จบ?

อุเทน : ห้องสมุดหรือร้านกาแฟ ถ้ามีปลั๊กผมก็นั่งได้นาน บางร้านเสียบปลั๊กชั่วโมงละยี่สิบ แล้วแต่ ระหว่างที่ดูหนัง ดูสารคดี หรือนึกอะไรได้ก็จด

พนา : ปกติกี่ชั่วโมง มีไทม์ไลน์ไหม เช้ามาอย่างต่ำสี่ชั่วโมงอะไรแบบนี้

อุเทน : ช่วงหลังพยายามเพราะอายุมากขึ้น แต่ช่วงแรกจะปล่อยมัน อย่างเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งมันอาจจะไปจบตอนตีสี่ครึ่ง จะชั้นบนร้านเกาเหลาก็ได้ บ้านที่พะเยาก็ได้ หรือร้านกาแฟ หรือห้องสมุดที่แม่ฟ้าหลวง ห้องสมุดราชภัฏเชียงราย ทุกที่ที่มีเวลาจำกัดก็มีงานออกมา

พนา : ตั้งแต่ 2550–2563 มีปีไหนที่ไม่ได้เขียนไหม

อุเทน : ไม่มี

พนา : นับปริมาณดู ในฐานะคนทำหนังสือ เขียนหนังสือแลกมาด้วยร่างกาย คิดว่าคุ้มไหมจนถึงอายุป่านนี้

อุเทน : ไม่ได้เอาคำว่า คุ้ม มาใช้ เอามุมมองอื่นมาใช้มากกว่า เรื่องที่น่ากังวลน่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องร่างกาย แต่มันมีความโชคดีในแบบลึกลับหน่อย มันมักจะมีบางอย่าง อย่างเช่น commonbooks จะพิมพ์ก้นกรองกล่อมเกลา ให้ (เลื่อย, 2551) เหมือนช่วงรอยต่อที่เราไปเที่ยวแล้วพ็อคเก็ตมันนี่เราหมดแล้ว แล้วจู่ๆ ก็ได้รับอีเมลงานมา หรือบทจรมาบอกว่าจะให้ทำปกหิมะ งงเลยอะ งานแรกเลยนะ เพราะที่ผ่านมาเป็นภาพปก ภาพประกอบผมทำให้ฟรีหมดเลย ตั้งแต่เล่มภวาภพ เล่มแรก

พนา : โมเดลนี้ก็พัฒนามาสู่การทำงานกับ P.S. ใช่ไหม ที่เริ่มมีทำภาพประกอบ อุเทนก็ชอบใช่ไหม ที่มันมีรายได้เข้ามา

อุเทน : ใช่ ก็ตื่นเต้นว่า โห มันเป็นรายได้ด้วยเหรอ

พนา : เหมือนเป็นการรับรู้ใหม่ ทั้งที่เรา practice แบบนั้นมาตลอด เคยมีงานที่ใช้คนอื่นทำปกให้ไหม

อุเทน : ไม่มี มากสุดก็ก็อปมาจากเน็ต ขโมย เนี่ยของเขาหมดเลย (ชี้ไปที่ลายประดับในหน้าปกหนังสือทำมือ)

พนา : เขาฟ้องได้นะยุคนี้

อุเทน : ได้ ก็ยังอยากรู้ว่าเขาจะฟ้องปกไหน ผมก็บอกว่าเราทำสี่สิบก็อปปี้เองนะ เขาเล่นรายใหญ่ รายเล็กเขาไม่เสียเวลาหรอก เลยไม่ค่อยเกรงกลัว

พนา : ถ้าพูดถึงการรักษา อุเทนเป็นเด็กดีหรือเด็กดื้อทางการแพทย์

อุเทน : ผิดนัดเนี่ยล่าสุดเลย ผิดนัดหมอเพราะอะไร เพราะเขียนหนังสือ ไม่ต่างกับการไปงานศพแล้วไม่ได้ทำอะไร แค่ไปให้เขาเห็น แต่พออายุมากขึ้นมันก็ไม่ได้หมกมุ่นขนาดนั้น อย่างที่บอกว่าพอทำงานถึงเที่ยงคืนก็พยายามเซฟ ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็เห็นแสงสว่างตอนเช้าโผล่ขึ้นมา แล้วงานเสร็จแล้วแต่โคตรเมื่อยแต่ก็รู้สึกว่าคุ้ม เออ ความคุ้มมันใช้กับตรงนี้ ไม่ได้ใช้กับร่างกาย ก็โอเค บิดตัวนิดหน่อยแล้วก็หลับ ตื่นอีกทีตอนเที่ยงวันได้เลย แต่ตอนนี้แก่แล้วก็พยายามจบตอนเที่ยงคืนถึงแม้ว่างานยังไม่เสร็จ แต่ถ้าไหลได้ก็จะปล่อยมันนะ แต่มันเริ่มมีสัญญาณแล้ว อย่างน้อยสัญญาณผ่านร่างกาย เมื่อก่อนไม่แคร์

พนา : ผมเห็นว่าช่วงแรกจะมีไทม์ไลน์ว่าเล่มนึงเขียนสามปี เดือนนี้ถึงเดือนนี้ แล้วก็มีแบบที่ปีเว้นวรรคด้วย คือเห็นด้วยปริมาณว่าห้าสิบ หกสิบ แปดสิบหน้าอย่างนี้ พอมารู้จักก็เลยทราบว่าไม่ได้เขียนงานทีละเล่ม เขาเล่าว่าบางทีเบื่อๆ ก็ไปเขียนงานอย่างอื่นก่อน ทิ้งระยะไว้ (อุเทน: ผมใช้คำว่ามีหลายตะกร้า) ผมคิดว่าอาจจะเป็น practice ที่เป็นนักเขียนอาชีพจริงๆ ที่ใช้เวลาครึ่งนึงของชีวิตไปกับอาชีพการเขียน เราเคยคุยกันเนอะว่าพี่ใช้ชีวิตครึ่งนึงเป็นนักเขียน อีกครึ่งปีเป็นเพ้นเตอร์ (อุเทน : หรืออีกครึ่งปีรับจ๊อบ) มันมีกิริยาต่างกันไหมระหว่างผู้ผลิตกับผู้เขียน คิดภาพเหมือนสร้างหนังไหม เขียนเอง กำกับเอง เป็นผู้ผลิตเองด้วย เวลาที่เขียนแต่ละเล่ม

อุเทน : สำหรับผม ในแง่ positive คือหลายเล่มเลยผมจะเคาะปกก่อน เพื่อเป็นพันธะสัญญากับตัวเองหรือแม้กระทั่งกับคนอ่านที่เห็นว่าอุเทนเคาะปกแล้ว

พนา : แต่การเคาะปกมันมาทีหลังเฟซบุ๊กไหม เพราะยุคก่อนมันคือบล็อกใช่ไหม คือผมเพิ่งขุดเจอว่าพี่เคยเล่นบล็อก

อุเทน : บล็อกมีคนทำให้

พนา : เล่าถึงเหล็กหมาดการพิมพ์ก่อนก็ได้ มันมาจากตอนที่ทำนิทรรศการเลยใช่ไหม ตอนแรกมันเป็นทากเปลือยการพิมพ์ก่อนที่จะเป็นเหล็กหมาดการพิมพ์ ตั้งต้นตอนแรกที่เป็นทากเปลือยฯ อุเทนส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์แล้วเกิดเบื่อหรืออยากทำสำนักพิมพ์เองร่วมกับแวดวงเพื่อน เพราะตอนนั้นมันไม่ได้ออกเป็นงานตัวเองอย่างเดียว เกิดอะไรถึงเปลี่ยนจากทากเปลือยฯ มาเป็นเหล็กหมาดฯ หรือมันเป็นกิมมิคที่ไปค้นพบอุปกรณ์ชนิดนี้

อุเทน : เออนั่นแหละ เพราะอุปกรณ์

PAPER Bookazine: Annual Journal of Book Culture

พนา : เหล็กหมาดมันถูกใจยังไง

อุเทน : มันสัมพันธ์กับตัวเล่ม ผมชอบปฏิเสธว่าไม่ต้องให้เซ็นหรอกครับ ทั้งหมดนี้มันคือลายเซ็นอยู่แล้ว ทุกหน้ามันมีรอยนิ้วมือของผมหมดเลย เพราะตอนถ่ายเอกสารมามันก็แบ่งเป็นสามส่วน ผมก็เรียงมัน เปิดเพลงบรรเลงไป เบื่อมากอะ เพราะรู้ว่าลำดับมันเป็นยังไง ก็เลยบอกว่าทุกหน้ามันมีรอยนิ้วมือผมหมดแล้ว รวบตัวผมได้เลย เรื่องแบ่งสามส่วนมันเกี่ยวกับทรัพยากรด้วย มันลงตัวพอดี ผมก็คิดกับมันเยอะนะกับเรื่องสิ่งแวดล้อมในแบบที่มันคุ้ม (พนา : พี่ก็ไม่เคยถามนะว่าต้องให้เซ็นให้ไหม น่าจะตั้งแต่รู้จักกันด้วยซ้ำตอนที่คุยทางออนไลน์)

นิทรรศการ 4 สัปดาห์ โดยอุเทน มหามิตร (อังกฤษแกลลอรี่, 2012)

พนา : เหล็กหมาดฯ มีโมเดลที่จะพัฒนาไปสู่การพิมพ์ออฟเซทไหม ในใจอยากให้มันไปแบบนั้นไหมหรือยังสบายใจในการเข้าเล่มด้วยตัวเอง

อุเทน : ตอนนี้ไม่แล้ว เพราะดูจากหลายสำนักพิมพ์ หลายแม็กกาซีนปิดตัวไป มันตอบตัวมันเองอยู่แล้ว

พนา : แล้วสนใจพื้นที่ออนไลน์ไหม

อุเทน : อีบุ๊กเหรอ นิยมกันจริงเหรอ

พนา : ก็มีตลาดประมาณนึงอยู่

อุเทน : ผมเคยได้ยินว่าเดี๋ยวนี้เขามีให้หยอดเหรียญเพื่อให้เขียนตอนต่อไป

พนา : นั่นระบบของบล็อก เป็นนิยาย เราหมายถึงสำนักพิมพ์ เช่น มีให้เลือกออนดีมานด์ร้อยเล่มเป็นราคานึง หรือขายแบบออนไลน์

อุเทน : ด้วยระยะเวลาของมัน ถ้าเปรียบก็เหมือนสัตว์เลี้ยงที่โตแล้ว มันออกล่าเหยื่อมาเยอะแล้วถ้ามันเป็นสัตว์ประเภทนักล่านะ แต่ถ้าเป็นพวกฟังไจ จากไลเคนไซส์แค่นี้ ตอนนี้มันก็ขยายไป เป็นสี่สิบก็อปปี้ มันเพิ่งจะมาแผ่ตอนศิลปาธรนี่มั้ง ผมก็ไม่รู้นะ

พนา : กิริยาแผ่มันคืออะไรเอาอย่างนี้ก่อน ก่อนศิลปาธรผมก็ไม่เห็นว่ามันจะแผ่ขนาดนั้น ผมคิดว่าต้องดูมันต่ออีกสักระยะ

อุเทน : เออใช่ พูดถูก

พนา : ผมสนใจโมเดลในฐานะสำนักพิมพ์ อุเทนในฐานะบรรณาธิการด้วย เพราะเขาไม่ได้พิมพ์งานตัวเองอย่างเดียว

อุเทน : มีไฟแต่ไม่มีทุน

commonbooks : เหล็กหมาดฯ พิมพ์งานคนอื่นด้วย? ภาพมันเป็นอุเทนพิมพ์งานอุเทน

พนา : นี่ไง ผมเคยบอกว่ามันต้องมีขาสำหรับการโปรโมต การจัดส่ง ตอนนี้ต่อให้นักเขียนส่งเรื่องมาให้อุเทนมันก็ตัดจบที่อุเทนทำทุกอย่าง คือยังไม่ได้แยกว่าต้องมีส่วนที่อุเทนต้องจ่ายค่าคนทำหน้าที่ต่างๆ ผมเลยสนใจว่าโมเดลมันจะขยับไปไหม ผมแค่รู้สึกว่ามันโตได้ ขอแค่มีทุนและคนจัดการให้ อุเทนก็จะกลายเป็นบรรณาธิการบริหารอะไรแบบนี้

อุเทน : มีครั้งนึงนะที่ผมอยากซื้อเครื่องถ่ายเอกสารเลย หาข้อมูลเลยว่าเครื่องไหนถ่ายเอกสารสีถ่ายขาวดำ แต่มันไม่มีทุน คือให้มันครบวงจรจริงๆ

พนา : ไม่ต้องแบกของออกไป

อุเทน : เออ ไม่ต้องเข้าเมืองพะเยาไปเพื่อจะถ่ายเอกสาร ไม่ต้องไปคอยคุมไปจู้จี้เขาว่าผงหมึกมันลงไป ดำไป เช็ดหน่อยสิ

พนา : อย่างที่บอกว่าผมมองอุเทนในฐานะครึ่งๆ เพ้นเตอร์ กับ author แล้วในพาร์ทของ author เขาไม่ได้เป็นแค่นักเขียน เขาเป็นบรรณาธิการเองด้วย

อุเทน : ตรงนี้ผมเอาความกวน ความท้าทายในแบบบรรณาธิการมาใช้ ว่าเห็น “ที่” เรียงกันขนาดนี้ได้ไงวะ มันต้องขีดออก ใช้เยอะไปแล้ว ทำไมอะ มันเป็นตัวเองทั้งหมด เก้าอี้ก็อยากเป็นตัวเอง ไม่ให้คนมานั่งกูก็ลุกขึ้นยืน ผมว่าผมคิดกับมันจบนะ บางคนอ่านอาจจะงงหรืออิมเมจตามไม่ทันก็ได้ว่าเก้าอี้ลุกขึ้นยืนมันจะเป็นยังไง ผมอ่านงานตัวเองแล้วเจอคำว่า ที่ เต็มไปหมด ที่ ที่นั่ง คำว่า ที่ มันเรียงกันได้ยังไง เราเอามาแยกดู มันเป็นตัวเองหมดเลยนะ มันไม่ได้ซ้ำด้วยสรรพนามแบบ คุณ คุณเต็มไปหมด เหมือนจะไปว่าคนอื่นเนอะ

แทรก 1 — ตัวบทกวี “การปรับจุดยืนของที่นั่ง” / พนา เพชรสัมฤทธิ์ อ่านออกเสียงในนาม “เครือข่ายกวีสามัญสำนึก” ( 19 กันยายน 2563 )

commonbooks — มีนักเขียนรุ่นๆ เดียวกันที่อีดิทงานตัวเองบ้างไหม

พนา — พี่ม่อน (อุทิศ เหมะมูล, สำนักพิมพ์จุติ) ยุคหลังก็ผลิตงานเอง แต่อุทิศเป็นงานขนาดยาวเลยไม่แน่ใจ process ในการอีดิทของเขาว่าเป็นยังไง แยกหรือต่างจากตัวตนเขาไหม เพราะพี่ม่อนเขาพิมพ์งานตัวเอง ยังไม่เห็นพิมพ์ของคนอื่น ถ้าเป็นโมเดลยุคเก่าก็ของพี่ปอ เม่นวรรณกรรม เท่าที่รู้นะ

อุเทน — อย่างน้อยเขาก็คิดค้นฟอนต์ของงานตัวเอง เขามีมุมที่พวกเรารู้ว่าเขาเป็นจิตรกร เขาไม่ได้มองตัวหนังสือเป็นก.ไก่ แต่มองเป็นไอ้จู๋ได้

พนา : เป็นบรรณาธิการงานเดี่ยวก่อนซีรี่ส์ 8เปื้อน ไหม

อุเทน : ผมเป็นบรรณาธิการให้ตัวเองมาตลอด แล้วก็เริ่มรู้สึกอยากทำงานกับคนอื่น ก็มี 8เปื้อน มีของหยิน (ตวงพร ปฏิปทาพานิชย์) ด้วย หยินก็รู้จักกับทศพล (ทศพล บุญสินสุข) ก็ชวนทศพลมา

พนา : มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง ทำไมอยากทำงานรวมเป็นซีรี่ส์

อุเทน : ดูเอ็ม (พนา) จะตื่นเต้นมากกับ 8เปื้อน ผมบอกได้เลยนะส่วนหนึ่งเพราะเอ็ม ผมแบ่งได้เลยว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นเพราะเอ็ม แล้วก็จุ๋ม P.S. (ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล) อีกห้าสิบเปอร์เซ็นต์ มันถึงมีเล่มนี้ (50 Fuel Romance วอนท์เชื้อเพลิงโรมานซ์เว่อร์) เอ็มทวงผมอยากให้มันออกมาครบเซ็ท เพราะเราร่วมงานกับคนอื่นเขาไม่ส่งต้นฉบับมา มันเลยเป็นแรงผลักให้ผมทำร้อยเรื่องสั้นที่คนไทยไม่ต้องอ่านก็ได้ออกมา ตอนนี้ได้แปดเล่มครึ่งแล้ว มีธีมหายนะ ผี ความรัก ความตาย ธีมแรกคือตีลังกาอวัยวะ เป็นเรื่องอวัยวะดีเบทกันเสียงดังมาก แล้วหลังจากนั้นมีหนังสือเรื่องเล่าจากร่างกายออกมาใช่ไหม เป็น best seller ติดตลาดอยู่นาน ผมก็หยิบเล่มของผมออกมาด้วยความรู้สึกว่า อะไรวะ (พนา : แต่ P.S. ก็เอาไปพิมพ์ไง) ก็จน P.S. เกิดขึ้นน่ะ ผมอาจจะทำถึงเล่มที่หกหรือเจ็ดแล้วมั้ง … ตอนนี้เหลืออีกสิบสาม เรื่องจะครบหนึ่งร้อยเรื่อง ร้อยเรื่องสั้นที่คนไทยไม่ต้องอ่าน…ก็ได้ ที่ขอบคุณก็เพราะเอ็มทวงมานั่นแหละ ผมก็เลยจัดให้ เพราะทำงานกับคนอื่นแล้วเขาไม่ส่งต้นฉบับ ถ้าผมทำคนเดียวคงเสร็จเป็นชุดไปตั้งนานแล้ว สมมติว่าผมเนียนใช้นามปากกาเป็นคนอื่น เช่น อดิศักดิ์ (อดิศักด์ ด่านพิทักษ์) วิวัฒน์ (วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา) ในความหมายว่าผมทำคนเดียว ผมคิดว่าถ้าผมขอวิวัฒน์ เพราะเขาชอบอะไรที่เล่นๆ แบบนี้ อย่างข่มขืนความขื่นขมก็เหมือนกัน รวมคนเขียนแต่มันไม่ได้บอกนะว่าใครเขียนเรื่องไหน คนอ่านอย่างมันส์อะ คนเขียนสี่คนเขียนเรื่องไหนไม่รู้ไม่สำคัญ เราตัดความสำคัญของนักเขียนออก

ส่วนชุดนี้ — วรรณกรรมแตกกิ่ง มันจะไปจบที่นวนิยายสามคนเขียน มีบทกวีแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องสั้นซึ่งมีต้นฉบับแล้ว เล่มนี้เป็นตอนที่โย (กิตติพล สรัคคานนท์) เพิ่งตั้ง Books & Belongings ซึ่งมีการตอบรับดี แล้วก็มีโปรเจ็กต์มาทำกัน ตอนที่ทำโยก็บอกว่าผมออกไปก่อนได้ไหมผมอาจจะไม่เสร็จ วิวัฒน์ก็ทำกรุ๊ปแช็ทกันเลย เสริมพลังกันตรงนั้น ก็เลยทำเสร็จออกเป็นเล่มนี้ — เราจะอ่านจนจบ (บทกวี) เล่มสองเป็นเรื่องสั้น ทุกเรื่องเขียนร่วมกันเพราะแตกมาจากการเขียนคำนำร่วมกัน เราเขียนแทรกกันไปเขียนแทรกกันมาจนได้คำนำนี้ ถ้าอ่านอาจจะจับได้ว่ามันไม่เนียน เรื่องสั้นเป็นสามเรื่อง แต่ละเรื่องมีสามองก์ เรื่องแรกใครจะเปิดองก์แรก องก์ที่สองเป็นใคร เหมือนสลับไพ่กันครบหมดแล้ว เขียนเกือบจะจบแล้วแล้วรอที่จะเอาค่าเรื่องที่ขายได้มาเข้าเล่มเรื่องสั้น ปกผมก็ออกแบบเสร็จแล้วนะ เป็นรูปบอลลูนช้างลอยตัว ชื่อเรื่องแทรกเสียมารยาท คือมันเสียมารยาทนะเวลาที่ฉันพูดอยู่แล้วเธอมาพูดแทรก สุดท้ายไม่ได้พิมพ์ แต่ต้นฉบับน่าจะยังอยู่ในคอมเครื่องเก่า ในฐานะบรรณาธิการที่ทวงงานแล้วไม่ได้ จากเรื่องสั้นคุมธีมใน 8เปื้อน ก็เลยกลายเป็น 50 Fuel Romance วอนท์เชื้อเพลิงโรมานซ์เว่อร์ ธีมเป็นเรื่องความสัมพันธ์ซึ่งคิดว่า P.S. น่าจะพิมพ์ แล้วก็พิมพ์จริงๆ ตอนที่คุยแรกๆ จะทำภาพประกอบเป็นขาวดำ ก็มีภาพขาวดำแล้วว่าจะออกมาประมาณนี้แม้ว่าผมจะทำต้นฉบับเป็นสีก็ตาม ซึ่งแน่นอนราคาอาจจะเหลือร้อยสี่สิบ คือผมไม่คิดว่าจะออกมาเป็นแบบนี้ เป็นปกแข็งด้วย หรือต่อให้เป็นปกแข็งแต่ถ้าไม่พิมพ์สี่สีราคาอาจจะอยู่ที่สองร้อยห้าสิบก็ได้นะ เขาให้ทำภาพประกอบยี่สิบรูป ผมสนุกผมก็ทำไปยี่สิบกว่ารูปเลย เป็นครั้งแรกที่ใช้ธีมแบบสมมติผมรู้ว่าคุณมีนิสัยแบบนี้ผมก็เอามาเขียนเป็นเล่มนี้ มันคือห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของ P.S. อีกห้าสิบเปอร์เซ็นต์คือเพื่อให้คนที่ขยันทวงคนนี้ เมื่อไหร่จะเสร็จ แต่เรื่องมันไม่ได้ยากนะ แค่ครึ่งเอสี่ก็เป็นเรื่องนึงแล้ว ในเรื่องของงานบรรณาธิการผมน่าจะพูดในเชิง positive บ้างนะ พูดแต่ negative ทวงแล้วไม่ได้

พนา : ยังไม่ได้เล่าเลยว่าทำไมอยากทำงานร่วมกับคนอื่น

อุเทน : เพราะงานกลุ่มมันจะมีแรงผลัก มีพลังงานกลุ่ม ซึ่งมันดีนะ เอ็มก็ยังตื่นเต้น ออกแล้วเหรอ ทำไมเร็วจัง คือถ้าทุกคนส่งต้นฉบับตรงเวลาผมก็ไม่ลังเลที่จะเข้าเล่มให้

พนา : สรุปว่าเสร็จกี่เล่ม ซีรี่ส์ 8เปื้อน

อุเทน : หก

พนา : ผมเห็นปกเล่มแปดอยู่

อุเทน : เล่มแปดให้วิวัฒน์เป็นบก. เพราะผมจะทำหกกับเจ็ดในแบบของผม เล่มหกเป็นธีมทุเรศ แต่ไม่แน่ใจว่าได้พิมพ์ไหม ผมออกแบบปกมาแล้วเท่าที่ผมจำได้

อุเทน : พูดด้าน positive บ้าง การได้อ่านเรื่องของคนอื่นในการที่เราเป็นคนกำหนดหัวข้อนี่มันสนุกนะ มันไม่เชิงว่าฉันเป็นผู้ปกครอง เป็นเผด็จการที่บอกว่าเอาม่านตาทุเรศนี้ไปใช้สิ เรื่องเซ็กส์นี้มันมีอยู่แล้ว ตอนทำผมก็ลิสต์ว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง แต่ใครสักคนในกลุ่มบอกว่าขอธีมเรื่องเซ็กส์ได้ไหมครับ ผมก็บอกว่าผมเตรียมไว้แล้วในเล่มสอง เขียนไปเลย กับอีกอัน ผมไม่รู้ว่าเป็นมารยาทหรือเปล่า ไม่มีใครแย้งธีมของผมเลย พอจบเล่มสี่ผมถามเลยเอาธีมอะไรดีครับ แต่ทุกคนเหมือนปล่อยผม ทุกคนได้หมด จริงๆ ผมเปิดให้ มันมีความรู้สึกว่ามันน่าจะมีอะไรมาขัด ผมเป็นบก.ก็จริง แต่ก็อยากให้มีใครมาขัดคอผม ไม่ต้องเกรงใจว่าอุเทนเข้าเล่มเองก็เหนื่อยแล้วหรืออะไรก็ตาม หรือขัดได้ว่าปกนี้อะไรเนี่ย ผมว่าอุเทนไม่ต้องวาดเองหรอก

commonbooks : เสียงหลายเสียงมันหายไป?

อุเทน : ผมหวังว่ามันจะมีไง พอเราสนิทกันมากขึ้นผมก็หวังว่าขัดใจผมก็ได้ สังเกตนะใครที่อ่านงานผม เป็นแฟนคลับ ไม่ต้องชื่นชมด้านเดียว แต่ผมอยากให้มาช่วยชี้จุดบกพร่อง ทำให้มันสนุกขึ้น อันนี้ในฐานะการทำงานกลุ่มนะ ทำงานเดี่ยวผมก็คุยกับตัวเองอยู่แล้ว ไม่มีอะไร

portrait by commonbooks, อุเทน มหามิตร

“ไม่รู้จะรู้สึกกับมันยังไง ผมรู้สึกว่าเรานี่เห็นแก่ตัวสุดๆ แล้ว คนอื่นก็อย่างที่เห็นน่ะ เรียกไปกินข้าว ชวนไปไหนก็ตามที่เป็นการเทคแคร์ เรากลับปฏิเสธบอกว่าเราจะปิดเรื่องของเรา งานศพญาติใกล้ชิดก็ไปแว้บนึงหรือไม่ไปก็มีน่ะ ยิ่งงานแต่งยิ่งไม่ไปเลยถ้าเรากำลังเขียนหนังสือ“

commonbooks — เราไม่ได้อยู่ในโลก เราอยู่ในโลกของตัวเอง?

Uten— มันปรับโหมดไม่ทัน ก็ไปเป็นพิธี

Phana— เป็นมานานหรือยังหรือเพิ่งเป็น หรือเพราะกิริยาเขียน

U: เพราะการเขียน ใช่ เซ้นสิทีฟเพราะทำงานศิลปะ ให้ไปงานศพไปได้ไปเป็นพิธี แต่โหมดในหัวเราคิดเรื่องงานเขียน รู้สึกอะไรในตัวเองข้างในอีก อย่างเรื่องผมกับหลาน ที่รถล้มจากไป มันมีอดีต เคยไปกินไอติมด้วยกันเยอะแยะ แต่ไม่อยากแบ่งภาคสมองมาให้ความรู้สึกตรงนี้เยอะ แต่จริงๆ รู้สึกเยอะนะแต่ไม่ได้ไปแชร์กับพ่อของหลานคนนี้หรอก สมมตินะว่าผมเขียนจบแล้วผมอาจจะไปคุยกับพ่อของหลานก็ได้ว่าเมื่อก่อนเคยพามันไปกินไอติมร้านนั้น เพราะทำงานแบบต่อเนื่องอย่างนี้ผมก็เลยไม่ได้ปิดโหมดเพื่อจะไปแชร์กับคนนู้นคนนี้ แม้กระทั่งตอบอินบ็อกหรือตอบคอมเม้นท์คนนู้นคนนี้ ผมรู้สึกว่าความยุ่งยากมันตามมา พอไม่ตอบคอมเม้นท์ผมก็รู้สึกผิดนะ หลายอย่างที่ผมพูดมาไม่ว่าจะไปงานศพหลาน มันเกี่ยวกับความรู้สึกลึกๆ เหมือนผมเตรียมสิ่งที่อยากพูดมาเยอะแต่ไม่ได้พูด (การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2563 วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม 2563) พอเขาบอกว่าเหลืออีกสิบห้านาทีผมก็อ้าว ผมยังอยู่เรื่องพะเยากับอินเดียอยู่เลย ยังไม่ได้มาถึงเรื่องที่กองอยู่ตรงนี้เลย ผมอึ้งมาก มันเหมือนเวลาผมโฟกัสกับมันทุ่มกับมันเยอะไปหน่อย ถ้าผมไปงานศพหลานด้วยความรู้สึกว่าโอเค ถึงผมจะเขียนไม่จบกูก็ไม่แคร์มึงแล้ว หลานคนนี้สัมพันธ์กับผมมากเลย ทั้งช่วยงานศพ กระทั่งยกเก้าอี้ มีงานศพนึงที่ผมตั้งใจมาก งานผมเคลียร์แล้วด้วยแหละ ผมถึงกับเขียนประวัติให้ซึ่งมันฉีกจากการเขียนประวัติของหมู่บ้าน หลานผมเป็นครู แล้วรถลงเหวตายเกือบทั้งคณะ ผมเขียนว่าตอนเด็กเขาเป็นยังไง ผมหยิกยังไง เขียนสองหน้าเอสี่ แล้วก็ให้เพื่อนสนิทเขาอ่าน น้องที่อ่านก็ร้องไห้แต่มันก็ฝึกอ่านแบบไม่ร้องไห้มา จนพอตอนอ่านจริงก็ร้อง ผอ.โรงเรียนพอได้ฟังก็บอกว่าช่วยซีร็อกซ์ให้ผมหน่อย ผมทำส่วนของผมตรงนี้แล้วก็อยู่กับงานศพ ถ้าไม่แบ่งภาคมาทำอย่างนี้ หรือแบ่งโหมดมาหางานนี้ได้แค่สิบเปอร์เซ็นต์ มันก็จะเป็นบทสรุปที่ผมรู้สึกผิดกับมันเยอะๆ เกือบทุกงานนั่นแหละ ไม่รู้ทำไมต้องรู้สึก นั่นแหละมันมีความรู้สึกจนกระทั่งกูก็ไม่รู้จะไปรู้สึกกับมันยังไงแล้ว มันยิ่งจะทำให้ดาร์กเข้าไปอีกในภาวะนั้น ยาก็ช่วยบ้าง

P — เราเห็นว่ามันเป็นปัญหากับตัวเราไหมที่เป็นแบบนี้

U— ถ้ามาอยู่โหมดนี้ผมคิดว่าผมก็ไม่ได้ทำการตลาดอย่างจริงจังไง อย่างที่เคยบอกว่าถ้าผมทำงาน อาจจะได้สามปีหนึ่งเล่ม ถ้าทำงานแล้วก็ทำการตลาดด้วย ทำหนึ่งร้อยก็อปปี้เลย พยายามขายให้ได้แล้วก็หาคนอ่านให้ได้ แต่ไม่ได้แบ่งภาคเพื่อทำให้ครบวงจรในแบบผู้ผลิต ไม่ใช่ผู้จัดจำหน่ายสักเท่าไหร่ ถ้าแบ่งไปทำสำนักพิมพ์ปีหนึ่งผมอาจจะออกเล่มเดียว ซึ่งผมก็จะไม่เอนจอยกับตัวเองอีก ขณะเดียวกัน พอไม่ทำอย่างนี้แล้วภาวะเศรษฐกิจผมไม่ดี ผมก็ไม่เอนจอยอีก ในรายการวันก่อนถามว่าความสุขคืออะไร ผมบอกว่าผมนิยามมันไม่ได้ ผมเริ่มน้ำตาคลอแล้วอะ

commonbooks — เชื่อไหมว่าคนทั่วไปไม่เก็ทนะว่าอยู่ได้ยังไงในโมเดลแบบนี้

U— อย่างที่บอกว่าผมโชคดี เช่น จู่ๆ บทจรก็ให้ทำปกหิมะ หรือคอมม่อนบุ๊คส์ก็อยากพิมพ์ก้นกรองฯ มันจบตรงที่แย่สุดคือตอนที่ไม่ได้มีจ๊อบเข้ามา ผมจะใช้วิธีวาดรูป เช่น รูปแมว แล้วอินบ็อกให้คนช่วยซื้อหน่อย ตรงๆ เลย คนที่เราเห็นว่าเขามีฐานะ ด้วยเหตุผลหลักๆ ที่ผมชอบใช้คือต้นฉบับเล่มใหม่ของผมเสร็จแล้วแต่ไม่มีเงินเข้าเล่มอะไรอย่างนี้ ถ้าซื้อรูปนี้ผมจะส่งไปให้พร้อมหนังสือเล่มใหม่

P — เคยโดนปฏิเสธไหม

U — ยังไม่เคย ซึ่งมันหลักพันทั้งนั้นนะ ยังไม่เคยมีหลักหมื่น พลอย (เพตรา วิเศษรังสี) ก็เป็นคนนึงที่ช่วยซื้อภาพแมวตอนที่ผมเฟลจากตอนที่กลับจากเชียงใหม่ แล้วเงินค่าเข้ากรอบก็หมดแล้ว เอาไป ( หมึกเหมียว — นิทรรศการที่ร้านเล่า ) รูปแล้วหอบกลับมา 28 รูป บ้าไปแล้ว

P— อุเทนอยากดังไหม

U— ไม่เลยนะ

P — ดังแล้วทำให้ขายงานได้เลยนะ

U— คำว่าโปรโมตตัวเองบ้างนี่ได้ยินตลอดแหละ ถ้าเป็นตอนที่อยู่กับอังกฤษ (อังกฤษ อัจฉริยโสภณ เจ้าของ Angkrit Gallery และ Artist+Run Gallery) ผมก็คงต้องติดรถตามมันไปด้วยเวลาขายงานได้นะ ล่าสุดที่ผมไปติดงานกับมันแล้วมากินพิซซ่ากัน ผมก็รู้จักอยู่บ้างนะ collector คนนี้ ผมก็ได้แนะนำตัวไป ผมคงไปออกกำลังกายกับอุทิศแล้ว มันก็เสริมในเรื่องสุขภาพ กับอังกฤษผมก็เสริมในเรื่องขายงานเพ้นต์ของผมได้ แต่โดยเส้นทางชีวิตผมก็แยกไปอยู่พะเยาคนเดียว

portrait by commonbooks, อุเทน มหามิตร

พาร์ท 2 “ความสัมพันธ์ของกวี และเพื่อนที่ชื่ออังกฤษ”

“อะไรสักอย่างของผมคือศิลปาธรไง ที่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะมา สปอตไลท์ก็ส่องมา เหมือนพ่อแม่ผมอดเปรี้ยวได้กินหวานน่ะ แต่มีพ่อแม่อีกเป็นร้อยที่อดเปรี้ยวแล้วไม่ได้กินหวาน แต่ไม่ได้ทำให้เขาตรอมใจตายนะ เขาแค่ไม่ได้ฟินกับความหวานตรงนั้น ผมโชคดีกับไอ้เนี่ย โชคดีไป”

commonbooks : กับที่บ้านเป็นยังไงบ้างตอนนี้

อุเทน : น่าจะเดาออกนะ รางวัลศิลปาธรมันทำให้หายใจโล่งขึ้นเยอะจากที่เขามองมา เขาก็ส่งไลน์ให้กันรู้หมดเลยทั้งหมู่บ้าน ตำบล รูปที่อุเทนรับช่อดอกไม้ เขาก็แซวกันว่าไม่เห็นอุเทนมันยิ้มสักรูปเลย เราซีเรียสกับตำแหน่งที่เขามาร์กไว้น่ะ จะไปยิ้มตอนไหนยังไงไม่รู้

พนา : สนิทกับใครมากกว่ากัน พ่อหรือแม่

อุเทน : แม่

commonbooks : อุเทนเคยเล่าให้ฟังเรื่องแม่มาเคาะประตูเอาน้ำเอาขนมมาให้เวลาที่ทำงานแล้วไม่ออกจากห้อง แล้วจะจบที่หงุดหงิดตัวเองที่ไม่ได้แบ่งภาคมาขอบคุณแม่

พนา : ยังรู้สึกผิดอยู่เวลาเขาชวนกินข้าวแล้วเราไม่ไป เป็นกิริยาเดิมไหม

อุเทน : ตอนนี้ก็ไปกินบ้างบางโอกาส เวลากิน มันไม่เหมือนเวลาเรากินกับเพื่อน ไม่รู้จะคุยอะไร เรื่องความรูทีนของเขาด้วย อย่างทีวีอยู่ตรงนี้โต๊ะกินข้าวก็อยู่ตรงนี้ แล้วทีวีเครื่องนี้มันก็รับได้แค่ช่องเดียว ไม่ละครก็เกมโชว์ เสาร์อาทิตย์เกมโชว์ จันทร์ถึงศุกร์เป็นละครเก่าเอามาฉายใหม่ จังหวะกินข้าวก็คือเวลานี้ แล้วเราไม่สามารถดูทีวีแล้วกินละครได้ ถึงจุดนึงเราก็เอาข้าวไปกินในห้องแล้วก็ยังทำงานไปด้วยนึกออกไหม แล้วเราก็รู้สึกผิดอีก รู้สึกว่ามันไม่เชื่อม แต่ตอนนี้อายุเท่านี้เราคิดแบบนี้ พอเราอายุเท่าพ่อแม่เราเราอาจจะมีมุมมองแบบเขา มีรูทีนในแบบที่เหมือนเป็นเงาของเขาในตอนนี้ก็ได้

พนา : ที่เราเป็นแบบนี้มันเป็นนิสัยของเราหรือเปล่า ตอนเด็กเราเป็นแบบนี้หรือเปล่า

อุเทน : ก็ด้วย ตอนผมเขียนเคนชิโร่หมัดเทพเจ้าดาวเหนือหรือดราก้อนบอลผมก็ไม่ได้ถูกชื่นชมหรือถูกมองเห็นอยู่แล้วจากที่บ้าน ยกเว้นไปโรงเรียนแล้วเพื่อนขอให้เขียนให้มัน

พนา : เรามีความต้องการนั้นอยู่หรือเปล่า

อุเทน : ผมว่าผมมีนะ ผมเป็นลูกคนเดียว แล้วก็ถูกล็อกเป้าอยู่แล้วว่าให้ทำอาชีพมั่นคงในแบบของเขา คือส่วนของภาคราชการนั่นเอง เขาก็มีไปคุยกับเพื่อนบ้างนะว่าลูกเป็นอย่างนี้ แต่มีพี่คนนึงชื่ออเนก เป็นทหารเรือ แฟนพี่อเนกด้วย เป็นพยาบาล เขาก็เหมือนเป็นเจนกลางน่ะ ที่ช่วยพูดว่ามันทำงานแบบนี้มันก็เลี้ยงตัวเองได้ แต่พ่อแม่เขาก็ไม่รับนะ ผมยังขอบคุณหลานผมเลย มีโอกาสก็จะซื้อขนมให้หลาน หลานข้างบ้านน่ะ มันทำให้พ่อกับแม่ผมยิ้มได้ขณะที่ผมทำไม่ได้ ซึ่งพออ่านดูมันก็จริงนะ คนเฒ่าคนแก่กับเด็กตัวน้อยๆ คือมันลิงก์กัน เรากลายเป็นช่องว่างหรือตัวอะไรที่ไม่ต้องมีเราก็ได้

พนา : มาพูดถึงรางวัลศิลปาธรดีกว่า

อุเทน : เราพูดถึงไปแล้วว่าเรื่องรางวัลมันโยงกับการพิสูจน์ตัวเองกับที่บ้านเรา เรื่องการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน คนที่บ้านฟินกันมาก ทั้งอาทั้งนา แม้กระทั่งช่างตัดผมของผม ชื่อป้าขัด ตัดผมไปด้วยคุยเรื่องรางวัลไปด้วย อันที่จริงเรื่องเข็มกลัด (เข็มเชิดชูเกียรติรางวัลศิลปินศิลปาธร — พนา) เหมือนเรารับปริญญา เราไม่อยากไปเช่าชุดครุยหรือไปรับ แต่ตอนนั้นผมไปรับปริญญาเพื่อพ่อแม่ ทั้งร้อนทั้งต่อคิว ลึกๆ ผมก็หนักใจว่ามันจะเป็นภาพนี้ แต่แม่ผมจะยิ้มมากเลย

พนา : ผมอยากพูดถึงการรับรางวัลที่อุเทนเมตาฟอร์ถึงนกหัวขวาน* กับอีกอย่างคือเรื่องที่อุเทนเล่าถึงโมเม้นต์ที่ได้ข่าวว่าได้รับรางวัล เพราะตอนนั้นอุเทนป่วยอยู่ใช่ไหม แล้วขาดหายจากการติดต่อกันไปเลย

อุเทน : มันเฟลจากการขายงานชุดภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศ

พนา : น้องสองคนที่ไปช่วยเซ็ทงานมันห่วงว่าทำไมติดต่อพี่ไม่ได้ จริงๆ ก็แค่กดโทรศัพท์แต่เราไม่อยากรบกวนพี่ ถ้าพี่มีอะไรพี่คงบอกเอง แต่ข่าวการได้รางวัล จู่ๆ มันทำให้มีพลังขึ้นมา? มันทุเลาใช่ไหมไม่ใช่ว่าหายดีแล้ว

อุเทน : ผมถึงบอกเขาไงว่าผมอาจจะไปรับไม่ได้นะครับ เขาตอบทันทีเลย มีรถเข็นให้ค่ะ ไม่ถามเลยว่าฉันเป็นอะไร

พนา : แต่รางวัลนี้ทำให้พลังงานมันเปลี่ยนไปจากเดิมไหม

อุเทน : ยัง โควิดพอดี

พนา : แต่อุเทนบอกว่ามันไม่ได้ “เย่” แต่เหมือนช่วยให้หายใจต่อได้อีกเฮือกนึง

อุเทน : พอเขาแจ้งมาผมก็ไม่เคยแน่ใจเลยว่าผมจะได้จริงๆ พอโควิดมาผมก็คิดว่ารางวัลมันอาจจะเลื่อนออกไป ผมถามว่างั้นประกาศเป็นทางการไปก่อนไหม เหมือนเป็นการบอกว่าอย่างน้อยช่วงโควิดก็ยังมีข่าวดีในวงการศิลปะเกิดขึ้น เพียงแต่มันเลื่อนออกไป แต่เขาทำงานแบบนี้คือต้องประกาศพร้อมกับสื่อมวลชนและคนที่มาเป็นประธานในพิธี พอผมคิดว่ามันจะเลื่อนไปเรื่อยๆ ผมก็เลยไม่ได้บอกแม่ผมตั้งแต่ตอนนั้น แล้วผมก็แอบคิดว่าเขาอาจจะมีใครที่พร้อมจะพูดหรือเขียนในแนวทางที่ทางเขาอยากฟัง เหมือนที่เขาอาจจะไม่อยากให้ผมเอาเท้าขึ้นขัดสมาธิบนเก้าอี้ หรือพูดว่าทางแยกเวลาในอากาศมันทำให้ผมประสาทแดกซึ่งทำให้เขาตกใจ พอคิดแบบนี้ผมก็คิดว่ามันอาจจะเป็นคนอื่นก็ได้ที่มาเสียบแทนอุเทน ในงานก็ไม่มีใครที่ถือหนังสืออุเทน นี่ ฉันอ่านแล้วนะ ผมก็ทำตามระบบของเขา จริงๆ ผมควรจะได้บอกแม่ไงเพราะมันควรจะเป็นข่าวดี ไม่ใช่แค่กับแม่ผม แต่วงการวรรณกรรมหรือศิลปะ และข่าวดีสำหรับผมคือคุณพูดแล้วนะ กลืนคำพูดตัวเองไม่ได้แล้วนะ ที่เหลือก็แค่รอให้โควิดซาแล้วก็ไปรับรางวัล แต่ในใจก็ยังคิดว่ามันอาจจะมีใครโผล่มาได้ในเมื่อไม่ยอมประกาศแบบนี้

พนา : อุเทนเคยเล่าเรื่องนี้แต่สนุกกว่านี้ เดินขึ้นเวทีแล้วกลายเป็นว่าชื่อที่ประกาศไม่ใช่อุเทน เขาจะทำแบบนั้นทำไม โมเม้นต์ที่อุเทนเล่ามันเป็นโมเม้นต์ที่ไม่มีความแน่ใจเลยว่าแม่งเป็นอุเทนจริงๆ เหรอ อุเทนเลยไม่บอกข่าวนี้กระทั่งพวกผม วันที่มีไลฟ์ของสศร.ผมก็แชร์ทิ้ง ไม่ได้คิดว่าจะดู แต่นั่งดูสักพัก อ้าวพี่แสบได้ ก็แค็ปไปบอกพลอย (เพตรา วิเศษรังสี) ว่าอุเทนได้ศิลปาธรว่ะ คือเรารู้ด้วยตัวเราเองไม่ได้รู้จากเขา

อุเทน : ผมไม่แน่ใจจนวันสุดท้ายที่เขาประกาศว่าผมได้

พนา : อุเทนแค่โทรบอกว่าเขามีเหตุให้ลงมากรุงเทพฯ มางานหนังสือ ผมก็คิดว่ามาจัดงานหนังสืออะไรทำไมผมไม่รู้

อุเทน : ไม่แน่ใจจนกระทั่งเขาจองห้องพักให้

พนา : อยากให้เล่าถึงการทำงานร่วมกันของอุเทนกับอังกฤษ (อังกฤษ อัจฉริยโสภณ) ช่วงนั้นอุเทนทำงานใน Angkrit Gallery (เชียงราย) ในฐานะอะไร

อุเทน : เวลาเขาไม่อยู่ ไปต่างประเทศ ผมจะเป็นเมเนเจอร์ของร้านเกาเหลา

พนา : เป็นทั้งเมเนเจอร์ของแกลเลอรี่ แล้วก็ร้านเกาเหลาด้วย? หน้าที่มีอะไรบ้าง

อุเทน : ร้านเกาเหลา ผมมีหน้าที่เก็บเงิน ไปแมคโคร ซื้อของ นับเงิน พอได้แบงก์พันมาก็ปิดร้านรีบไปแลกแบงก์ย่อยเพื่อจะเอามาทอน วันไหนทัวร์ลงก็ไปเสิร์ฟ คิดตังค์ ระหว่างนั้นก็คงเหมือนอังกฤษในอีกเวอร์ชั่นนึง ถ้ามีแขกมา อังกฤษก็จะอีเมลบอก เช่น พี่ พุธนี้พี่ตะวันจะมานะ ผมก็แบ่งเงินจากที่ขายเกาเหลามา เหลือเศษเงินไว้ให้ลูกจ้างเขาทอน ยกตะกร้านั้นให้นก นกเป็นคนที่รู้สึกว่าเชื่อใจได้ที่สุดแล้ว บอกนกว่าพี่จะไปแล้ว พาพี่ตะวันขึ้นข้างบน พอเสร็จวันปุ๊บ ลูกจ้างได้คนละสามร้อย ผมได้ห้าร้อยของผม ที่เหลือก็ใส่ซองเก็บไว้ในลิ้นชัก เขียนวันที่ไว้ อังกฤษกลับมาก็มาเปิดซองนี้ เป็นเงินของอังกฤษทั้งหมด

พนา : เป็นลูกจ้างรายวัน ไม่ได้ได้เป็นเงินเดือน แล้วเวลาอุเทนแสดงงานเดี่ยว เขาคอมมิชชั่นงานพี่อย่างนั้นหรือเปล่า สนใจโมเดลที่แสดงงานที่ Angkrit Gallery สองรอบ

อุเทน : รอบแรกผมยุว่ามันเป็นไปได้นะ ทำเถอะ มีรูปทากเปลือย แล้วก็เชื้อรา ตอนนั้นยังไม่มีแกลเลอรี่ข้างบน ประมาณปี 2551

พนา : หลังจากได้รางวัลจากใกล้กาลนาน (รางวัลดีเด่น ประเภทกวีนิพนธ์ จากงานมหกรรมหนังสือทำมือ) และฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์เข้ารอบชิง ก็กลับไปอยู่พะเยา แล้วไปอยู่เชียงรายกี่ปี

อุเทน : ห้าหกปี

พนา : เข้าใจว่าโปรเจ็กต์ทั้งหนังสือและงานศิลปะเกิดช่วงนั้นเยอะมาก

อุเทน : ใช่ๆ เพราะผมได้รายได้จากการเป็นผู้จัดการชั่วคราวในวันที่อังกฤษพาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศ หรือเอางานไปโชว์ที่ไหนก็ตามที่ต่อเนื่องกัน แล้วช่วงนั้นเขาทำขัวศิลปะด้วย อังกฤษก็เป็นคณะกรรมการที่ถูกเรียกตัวไป “พี่ วันนี้พี่ดูร้านนะ ผมต้องไปประชุมที่ขัวศิลปะ” อย่างนี้

พนา : โมเดลการทำงานเกิดจากความสัมพันธ์ที่เป็นเพื่อน การที่ Angkrit Gallery เกิดขึ้นอุเทนก็มีส่วนให้มันเกิดด้วย

อุเทน : ซึ่งแกลเลอรี่มันหล่อเลี้ยงด้วยร้านเกาเหลา

พนา : การที่อุเทนอยู่ในพื้นที่นั้นมันอยู่ในแบบไหน กึ่งๆ residency หรืออาศัยบ้านเพื่อนอยู่ หรืออะไร

อุเทน : อยู่บ้านเพื่อนก็ใช่นะ residency ก็ใช่ ผมก็ทำงานของผมไป ถ้าเขาไหว้วานก็ลงมาช่วยในฐานะแรงงาน จ่ายค่าแรง โดยไม่ได้วางแผนอะไรกับอังกฤษว่ามันจะเป็นอย่างนี้นะ มันเป็นธรรมชาติของมัน

พนา : แต่อยู่ยาวมากเลย เขาใส่ชื่ออุเทนในแผนกสักอย่างผมจำไม่ได้ แผนกศิลป์ ทัศนศิลป์ ติดตั้ง อะไรสักอย่าง กำลังคิดว่าหรือนี่คือโมเดลของ Angkrit Gallery

อุเทน : แถลงการณ์ของแกลเลอรี่ผมก็เขียน บางงานอังกฤษก็เขียน บางงานก็ช่วยกันเขียน แต่ไม่มีสูจิบัตร ตอนนั้นอังกฤษเล่นเฟซบุ็กเล่นบล็อกก็เผยแพร่กันทางนั้น

พนา : แต่เราไม่ได้ให้ส่วนแบ่งจากการขายหนังสือให้กับเขา

อุเทน : งานเขียนไม่ได้แบ่ง แบ่งค่าภาพยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์

พนา : วาดหรือเขียนเยอะกว่ากัน

อุเทน : พอๆ กัน

พนา : ผมสนใจตรงนี้ เพราะผลงานหลายเรื่องทั้งในซีรี่ส์ 8เปื้อน, เรื่องสั้นในอากาศ มันผุดมาในช่วงนั้น

commonbooks : กำลังจะบอกว่าการที่ชีวิตช่วงนั้นมันเสถียรหรือมีแหล่งรายได้ประจำ ทำให้อุเทนมีงานออกมาเยอะหรือเปล่า

พนา : ไม่แน่ใจว่าใช้คำว่า เสถียร ไหม ผมรู้สึกว่ามันคือพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้วเขาสามารถผลิตงานได้โดยไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง เพราะเราเคยคุยกันว่าเพื่อนสนิทที่สุดของเขาก็คืออังกฤษ ถ้าไม่มีอังกฤษก็ไม่มีอุเทน เราเลยสนใจความสัมพันธ์แบบนี้แหละ มากรุงเทพฯ เขาก็จะมีหนึ่งวันให้อังกฤษเพื่ออัพเดทชีวิตกัน เพราะเหมือนเขาก็ไม่ได้อ่านงานอุเทนเยอะ แต่ติดต่อกันในฐานะเพื่อนและศิลปิน ผมเคยอ่านสัมภาษณ์อังกฤษ เขาบอกว่างานอุเทนอ่านไม่รู้เรื่องหรอก

อุเทน : เขาจะสนใจว่าอะไรที่เลี้ยงอุเทนได้ เขาเคยพูดตอนที่ขายงานเพ้นต์ได้ว่า เนี่ย พี่เขียนเล่มนี้สองเดือน ก็จะบลัฟฟ์กันบ้างเรื่องมูลค่าของงาน ด้วยความที่เขาเป็นห่วง

พนา : เขาเชื่อในพลังงานเขียนของอุเทนเท่ากับพลังงานเพ้นต์ไหม

อุเทน : มันไม่ได้คุยกันจริงจังเรื่องงานเขียน แต่มีการคุยกันจริงจังเรื่องงานเพ้นต์ อย่างงาน abstract หรือบอกว่าพี่กลับไปเขียน charcoal หรือ portrait สิ ที่มีสัตว์อยู่ในใบหน้า เริ่มมีคนตามแล้วนะ ผมก็บอกว่างานนั้นมันดาร์ก ผมยังไม่เข้มแข็งพอ แต่ตอนหลังมันก็รู้นะ มันปล่อยให้ศิลปินทำ ตอนแรกมันไม่ค่อยรู้ ไม่ใช่กดดันหรอกแต่จะมาจี้ประมาณนึงว่าทำสิ ทำต่อ แต่ภาวะด้านในเราทำงานดาร์กในช่วงนั้นไม่ได้ ก็จะปฏิเสธแบบอ้อมๆ ไป แต่ตอนนี้มันรู้หมด ไม่ใช่แค่ผมนะ กับทุกคนที่มันร่วมงานด้วย
นอกจากมิตรภาพ พลังงาน ผมก็ได้สอนศิลปะเด็กที่โรงเรียนที่เชียงราย ชั้นประถมต้นกับประถมปลาย เป็นครูอัตราจ้าง ไปหนึ่งวันต่ออาทิตย์ สอนอยู่สามปี (หกเทอม) ผมจำได้ว่าเป็นปีก่อนที่ผมจะไป residency ที่พัทยาสามเดือนแล้วพอกลับมาทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเลย ทั้งแกลเลอรี่ที่ถูกทุบย้ายไปอยู่ข้างบน พ่อของอังกฤษเข้ามาทำอะไรในร้านเกาเหลาเยอะมาก ห้องของผมก็กลายเป็นห้องพักลูกจ้างคนลาวของพ่อของอังกฤษ มันเหมือนกับว่าถ้าไม่มีอะไรเหล่านี้เกิดขึ้น พอจบ residency ผมก็กลับมาใช้ชีวิตในจุดเดิมได้ ที่โรงเรียนก็ไม่รอครูอุเทนแล้ว จ้างครูคนใหม่แทน แล้วโรงเรียนก็เปิดมาได้สองอาทิตย์ ก็บอกเราว่าไม่ต้องมาสอนแล้วนะ เทอมนี้ไม่มีวิชาศิลปะเปลี่ยนเป็นนาฏศิลป์แทน ผมก็เหมือนถูกลอยแพ น่าจะบอกกันก่อนจะได้เตรียมรับมือ เช่น ไปเสนอตัวเป็นครูชั่วคราวที่โรงเรียนอื่น แต่ทีนี้ทุกโรงเรียนมันเปิดมาสองอาทิตย์แล้ว ถ้าจำไม่ผิด น่าจะปี 2558 ที่ไป residency ก็เป็นอะไรที่ได้ทำงานเขียนนิดนึง ทำงานเพ้นต์มากกว่า ก็มีเงินเดือน มีสเปซ ลุยได้เต็มที่สามเดือน ทำชุด Dreamscape เป็นขาวดำ ก่อนที่จะมาทำกับ VS Gallery เพราะความที่สตูดิโอมันเป็นพื้นที่ที่กว้างมาก เพดานก็สูงมาก ผมก็คิดว่าจะทำอะไร เราทำอะไรประมาณนี้ตลอด (ชี้ไปที่หนังสือ) งานเราชิ้นใหญ่สุดก็ขนาดเอสอง เอสาม ปกติก็ครึ่งเอสี่ พอเจอสเปซแบบนั้นแล้ว อ้าว เราจะทำอะไร ตั้งหลักนานมาก ช่วงเดือนแรกเขาอนุมัติเงินมาแล้วเราก็ซื้อแคนวาสม้วนนึง กระดาษฟาเบียโน่รีมนึง แล้วก็ซัดเลยเต็มแผ่น พอเงินเขาหมดเราจะได้ไม่ต้องกลัวว่าทำแล้วเสีย เสียดายจังเลย

พนา : เป็นศิลปินคนเดียวหรือมีศิลปินคนอื่นด้วย

อุเทน : สามคน มีเฮเลน ศิลปินชาวสิงคโปร์ อีกคนคือขวัญชัย ขวัญชัยมาจากสังกัดนำทองแกลเลอรี่ อุเทนมาจากสังกัด Angkrit Gallery เจ้าของทุนเขาไปเชียงราย ก็แวะเยี่ยมพื้นที่ศิลปะ แวะบ้านดำ ขัวศิลปิน ไปเที่ยวแม่สายกันบ้าง อังกฤษก็อยู่ด้วย ไปดูข้างบน (Angkrit Gallery) ด้วย แล้วก็มีคนนำเสนอชื่อผม

พนา : ผมจำงาน 4 สัปดาห์ โดย อุเทน มหามิตร ได้ ที่เป็นงานเขียนส่วนนึงกับอีกครึ่งนึงเป็นงานอาร์ต

อุเทน : ผมจัดสองครั้ง หนึ่งคือทากเปลือย สองคืออันที่ว่านี้ กับสามเป็นงานร่วมกับกลุ่มนกเค้าแมว แต่งาน 4 สัปดาห์ฯ เป็นงานที่เหมือนกับผมก็ไม่ได้เตรียมอะไรมาก มันตรงกับคิวของศิลปินคนอื่นที่เขาดันเลื่อนไป ผมก็เลยเสียบ ก็เอาสิ่งที่เราทำมาแสดง

พนา : แสดงอะไร ไปนั่งทำหนังสือเหมือน performance?

อุเทน : ผมแบ่งเป็นบล็อกในแกลเลอรี่ เอาสก็อตต์เทปสีดำมาเป็นเส้นพาดแบ่งเป็นสี่ช่อง อังกฤษก็ชอบ สัปดาห์แรก บล็อกแรกก็มีงานเรื่องสั้นในอากาศที่ผมทำ ผมเอาเหล็กหมาดมาซีร็อกซ์ซ้ำๆ เหมือนกับภาพของประธานาธิบดีโอบาม่า แต่มันเป็นรูปเหล็กหมาด สัปดาห์ที่สอง บล็อกที่สอง คือการเข้าเล่ม ผมนั่งกรีดสันปก สัปดาห์ที่สาม บล็อกที่สาม เป็นงานภาพพิมพ์ ผมนั่งคุกเข่า เป็นเทคนิคโมโนปริ๊นต์แผ่นกระจก เอาสีมาจุดๆ เอากระดาษมาวาง แล้วก็เอาลูกกลิ้งที่ใช้ทำขนม เป็นไม้ มากลิ้งปรื๊ด สัปดาห์ที่สี่ บล็อกที่สี่ เป็นงานดรออิ้ง charcoal ผมมีแรงที่จะทำงานที่คนต้องการมาก คือ portrait ที่ใช้ charcoal ที่มีสัตว์ยื่นออกมา แสดงครั้งแรกที่ Seescape เสิร์ช อุเทน drawing ก็ได้ แค่จะบอกว่ามันเป็นงานคนอยากเก็บ แต่ผมน่ะตอนนั้นไม่มีพลังเลยไม่ได้ทำต่อ มันใช้พลังงานเยอะ แล้วผมเริ่มดาร์กๆ ตอนนั้น ก่อนป่วย
ก่อนที่ผมจะออกจากเชียงใหม่ ผมเจอฝรั่งชื่อเคอร์รี่ (Corey Best) เขาเป็นจอมเขียนปากกาดรออิ้งเลย ผมก็ โอ ชอบจังเลย มันเป็นจุดที่ผมกำลังอยากออกมาจาก charcoal เพราะมันดาร์กมาก อังกฤษบอกพี่สู้เขาไม่ได้หรอก แต่ผมก็ เฮ้ย ทำไมอะ รู้ไหม ผมเป็นคนนึงที่ขอให้คณะอาจารย์ช่วยเปิดสาขาดรออิ้งเพราะผมอยากเรียน

พนา : ตอนนั้นยังไม่มีเหรอ

อุเทน : ไม่มี ตอนนี้ก็ยังไม่มี คือพอจบปีสี่จะขึ้นปีห้ามันต้องเลือกตอนทำตัวจบว่าจะทำอะไร ผมอยากจบด้วยดรออิ้ง ผมอยากลงลึกกับมัน แต่มันไม่มี ผมดรออิ้งด้วยปากกา กลายเป็นคนเก็บปากกาแบบบ้ามาก ได้ใช้มั่งไม่ได้ใช้มั่งบ้าไปแล้ว แล้วก็ได้ทำงานชุดปรมาณู อังกฤษตั้งชื่อให้แล้วก็ช่วยขายให้

พนา : คอนเซ็ปต์คืออะไร

อุเทน : ไม่มีคอนเซ็ปต์ คือมันเป็นการระเบิดออกมา มันไม่จบที่ 4 สัปดาห์นะ งาน 4 สัปดาห์ผมอยากบอกแค่ว่า 4 สัปดาห์มันสำคัญ สัปดาห์ที่ 5 ผมไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว ทุกอย่างถูกแบ่งอยู่ในห้องที่เป็นสี่ช่องหมดแล้ว สัปดาห์ที่ห้าเป็นสัปดาห์สำหรับคนที่เข้ามาทำงานซึ่งมันจะมีความว่างเปล่าอยู่ แต่มันจะมีความหมายสำหรับผู้ชม คนที่มาชมในสัปดาห์ที่ห้าจะได้มาชมทั้งหมด คนที่มาชมสัปดาห์อื่นๆ จะรู้สึกว่าทำอะไรของมันวะ แต่ที่จริงมันโคตรสำคัญ ช่วงนั้นมันจะมีประโยคที่ว่าคุณเห็นแต่เลขสิบ คุณไม่เห็นหนึ่งถึงเก้าว่ามันเป็นมายังไง

พนา : ชอบให้คนเห็นเลขสิบไหม หรือชอบให้คนเห็นตั้งแต่หนึ่งถึงเก้า

อุเทน : ใช่ ผมชอบให้เห็นหนึ่งถึงเก้า มันมีอะไรที่แลกเปลี่ยนกันเยอะมาก มันไม่ใช่มาม่าที่ต้มแล้ว กดน้ำร้อนเสร็จหมดแล้วมาวาง แต่เป็นมาม่าที่ยังไม่ได้นวดแป้งด้วยซ้ำ 4 สัปดาห์ เป็น exhibition สุดท้ายที่แสดงที่ข้างบนร้านเกาเหลา จากนั้นก็ไปพัทยา แต่ผมชอบงาน 4 สัปดาห์ นะ อังกฤษก็ชอบ มันบอก process แล้วอุเทนก็ใช้ความได้เปรียบตรงนั้นเพราะอยู่ตรงนั้นไง ที่ Angkrit Gallery มีงานเหมียวหมึกด้วย จริงๆ ก็ทำงานหลายซีรี่ส์มากตอนที่อยู่ที่นั่น ทำเหมียวหมึกจนกระทั่งรวมเป็นซีรี่ส์จัดแสดงที่ร้านเล่า (เชียงใหม่) พูดถึงอังกฤษต่อหน่อยก็ดี สามวันนี้ที่ขึ้นมาเสวนาและสัมภาษณ์ ผมไม่ได้พูดถึงมุมมิตรภาพเลย พูดแต่โตมายังไง ทำงานมายังไง ผมรู้จักอังกฤษครั้งแรกตอนที่อังกฤษอยู่ที่ปาล์มทนโท่ เราเรียกปาล์มเพราะมันมีต้นปาล์มต้นใหญ่อยู่ตรงหน้าสตูดิโอ ตอนนั้นยังไม่สนิทนะ มาเริ่มสนิทตอนที่อยู่ที่อุโมงค์ศิลปธรรม (ตอนที่สำนักพิมพ์สเกลไปเยี่ยมที่มูลนิธิที่นา) มันประทับใจผมตอนที่เอ็นจีโอชวนศิลปินอุโมงค์ศิลปธรรมไปทำโปรเจ็กต์สุนทรียะสู่ชุมชน เอาศิลปินไปอยู่ในหมู่บ้านอะไรจำไม่ได้ มันนานมากแล้ว ผมก็ไปอยู่แล้วก็เป็นบั๊ดดี้ของอังกฤษ ตอนที่นั่งล้อมวงกันเขาก็ให้แนะนำตัว ผมก็บอกว่าผมชื่อ อุเทน มหามิตร เรียนจบสาขานี้มา ปัจจุบันทำงานเขียนหนังสือเขียนรูปครับ อังกฤษก็หันมาพูดว่าทำไมตอบง่ายจังวะ สำหรับอังกฤษเขาคิดว่าเป็นคำตอบที่ไม่คิดว่าจะตอบง่ายขนาดนี้ คือถ้าจะให้มันบอกว่าเป็นศิลปิน มันก็คิดว่ากูเป็นพ่อค้าเกาเหลาอะไรอย่างนี้ ช่วงนั้นมันมีภาวะนี้อยู่ ผมว่าสักพักก็จะมีคนรู้จักอังกฤษในแบบศิลปินและพ่อค้าต้มเลือดหมู ถ้าเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ ใช่ไหม แล้วมันอยู่ได้ไหมไอ้เขียนหนังสือเขียนรูป มันอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราก็ตอบไปแบบนั้น

พนา : เข้าใจว่าทำอะไรได้ก็ทำ แต่เป้าหมายคืออยากเป็นนักเขียนหรือทำงานเพ้นต์เป็นอาชีพซึ่งตอนนั้นมันยังไม่ยั่งยืนขนาดนั้น

อุเทน : ตอนนั้นภวาภพออกจากโรงพิมพ์หรือยังก็ไม่แน่ใจ แต่ผมก็พูดอย่างนั้นไปแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีงานอย่างตอนนี้ ภวาภพเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกด้วยซ้ำ หลังจากนั้นผมออกจากอุโมงค์ฯ เชียงใหม่ คุยกับอังกฤษ อังกฤษก็ชวนให้มาอยู่ที่ปาล์มทนโท่ ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะมาอยู่นาน แค่เบื่อพะเยา แล้วเชียงรายมันก็ใกล้มาก ก็ไปเที่ยวหา เพราะคุยกันรู้จักกันมากขึ้นแล้วตอนที่อยู่อุโมงค์ฯ, ที่มูลนิธิที่นา มันยุให้ผมเป็น artist residency คนแรกของมูลนิธิที่นา มันเลยมีสกู๊ปชื่อว่า แรกชีวิตในมูลนิธิที่นา ในรูม (2547, สเกล) น่ะ

พนา : ทำอะไรตอนนั้น

อุเทน : ผมทำภาพนิทานการช่วงชิงจินตนาการก่อนถ้อยคำ แล้วมันมีโอกาสจะต่อกับเล่มนี้ด้วยนะ

พนา : หนึ่งปีใช่ไหมที่อยู่ที่นี่

อุเทน : โปรเจ็กต์ One Year เป็นอีกอันนึง ที่มูลนิธิที่นาผมอยู่ในฐานะเด็กทุนคนแรกที่เขาให้เงินเดือนสามพันต่อเดือน เพราะทางเขาคุยกันว่าที่นั่นมันขาดชีวิต แล้วคนเฝ้าสวนคืออ้ายไวยกับเมีย แล้วมันจะเรียกได้ยังไงว่าเป็นพื้นที่ศิลปะ มันขาดชีวิตมานานแล้ว แล้วจู่ๆ อังกฤษเห็นอุเทนก็เลยจับอุเทนมาอยู่ อาจารย์คามิน (คามิน เลิศชัยประเสริฐ) ก็เห็นด้วย ให้เงินเดือนมันสามพัน ให้มันอยู่สามเดือน อยู่หลังไหนก็ได้ ก็เลยเลือกบ้านพี่ฤกษ์ฤทธิ์ที่มันโย้เย้หน่อย ที่สำคัญมันวิวดี มีดาดฟ้าด้วย แล้วพอใครมาเยี่ยมผมก็ต้องออกไปต้อนรับอีก แต่ที่แน่ๆ ถึงผมจะไม่ต้อนรับ ถึงอาจารย์คามินจะขับรถพามา เขาก็ชี้ให้ดูได้ว่านี่คือศิลปินคนแรกของที่นี่ มันอัพเกรดขึ้นมาเยอะเลย ช่วงนั้นผมก็ทำนิทานภาพสีน้ำพาสเทลนั่นแหละ เสร็จแล้วก็เอางานทั้งหมดมาแสดงที่อุโมงค์ฯ ผมแสดงพร้อมกับงานอีกชุด ตอนนั้นพี่นำทอง (นำทอง แซ่ตั้ง) ก็มา อาจารย์คามินโคตรยุพี่นำทองเลยให้เก็บชุดนี้ พี่นำทองไม่ได้เก็บ ชุดนิทานก็ไม่ แต่ช่วงที่แสดงที่อุโมงค์ฯ มีเอ็นจีโอมาซื้อไปรูปนึง ตอนที่ผมไปอยู่ที่ปาล์มทนโท่ ตอนนั้นมีชื่อแล้วว่าปาล์มทนโท่ ผมกับอังกฤษเราเบื่อมาก ผมเลยชวนทำงานเทคนิคโมโนปริ๊นต์บนแผ่นกระจก วันนั้นก็เลยลุยกันทั้งวันเลย แล้วมีฝรั่งเป็นเพื่อนของอังกฤษเขามาดูเขาก็ชอบ ก็ถ่ายรูปผมกับอังกฤษตอนทำงาน วันนั้นอังกฤษได้ไปเกินห้าสิบรูป ส่วนผมได้ประมาณสามสิบกว่ารูป ไซส์กระดาษอาร์ตมันที่เราตัดเตรียมไว้แล้วน่ะ แล้วผมก็เอามาเป็นภาพประกอบระคนคนละละคร หน้าปกเป็นหยดสีแบบ แจ็คสัน พอลล็อก ระคนคนละละครก็ถูกนำไปพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หนึ่ง โยเป็นคนออกแบบปก ผมเขียนต่อจากภวาภพ แค่จะบอกว่าพอได้ทำงานโมโนปริ๊นต์ด้วยกันก็บ้าพลัง ระเบิดพลังด้วยกัน กระดาษกองเกลื่อน ฝรั่งก็มาถ่ายรูป วันต่อมาฝรั่งคนนั้นก็เอานาฬิกาข้อมือให้ผมเรือนนึง ให้อังกฤษเรือนนึง ผมกับอังกฤษก็งงว่าเกิดอะไรขึ้นครับเนี่ย เขาบอกเขาประทับใจมาก

พนา : ที่ปาล์มทนโท่สเปซมันเป็นยังไง

อุเทน : มันเป็นบ้านสวน เลี้ยงวัว แล้วก็ปลูกข้าวโพด พอปาล์มทนโท่ปิดตัวเขามาตัดต้นปาล์มทิ้งด้วยนะ เขาจะทำพื้นที่ตรงนี้ใหม่ ผมไม่ได้กลับไปอีกเลยหลังจากออกมา ก่อนไปอยู่ข้างบนร้านเกาเหลา ผมก็ไปทำโปรเจ็กต์หนังสือสีแท่งหนึ่งกล่องในแสงทะเลร่วมกับเด็กๆ มอแกน อูรักลาโว้ย เสร็จแล้วก็วาดภาพผนังร้านให้ Norbulingka Coffee ร้านกาแฟที่พะเยา เป็นร้านแรกและร้านเดียวจริงๆ ตอนที่ทำเสร็จทีแรกหวังว่าจะมีร้านอาหารหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ตามมา เพราะมันเป็นรายได้ที่ดีเลย แล้วผมก็จะเขียนหนังสือไปด้วย ต้า (อดิศักดิ์ ด่านพิทักษ์, เจ้าของร้าน) จบปรัชญาจากอินเดีย เคยร่วมงานกับพวก Smile Buddha, กลุ่มส. ศิวรักษ์ และลามะต่างๆ ทำกิจกรรมธรรมยาตรา ถ้าพูดถึงเรื่องมิตรภาพ นอกจากอังกฤษก็มีต้า ถึงแม้จะไม่ได้ร่วมงานกันมาก ต้าเป็นเพื่อนรุ่นน้องในพะเยา มีปัญหาทุกข์ใจอะไรก็ไปคุยกับมันได้ เคยยืมเงินมันนะ เป็นอีกคนที่ถ้าลำบากก็ไปยืมเงินมัน

Phana— เขาจ้างงานเราเป็น painter?

Uten — อืม ออกแบบตกแต่งร้าน

P — ก็อยากให้เป็นโมเดลที่เขาคอมมิชชั่นเราเป็นดีไซเนอร์แล้วเราจะได้เอาเงินนั้นมาเขียนหนังสือ

U — เป็นอาถรรพ์ที่โคตรแปลก มันไม่เกิด แล้วถ้าเทียบสกิลในการพูดต้าก็เป็นรองอังกฤษนิดเดียว ก็เก่งเวลาพูดกับลูกค้าหรือพูดกับคน//ส่วนโปรเจ็กต์อูรักลาโว้ย เราลงพื้นที่ก่อนแล้ว แล้วทิ้งเวลาอีกเป็นปีเพื่อให้เขาหาทุนมาพิมพ์หนังสือ ผมก็ลงมากรุงเทพฯ อีกรอบเพื่อมาเก็บเมื่องานกับเท็กซ์มันพร้อมแล้ว

พาร์ท 3 : ชำแหละอุเทนผ่านหนังสือ สำนักพิมพ์อิสระและแวดวงวรรณกรรม

portrait by commonbooks, อุเทน มหามิตร
portrait by commonbooks, อุเทน มหามิตร

พนา : กลับมาคุยกันเรื่องผลงานจากกองหนังสือตรงหน้า เริ่มจากกวีนิพนธ์ก่อนก็ได้

อุเทน : ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ กับใกล้กาลนาน เป็นสองเล่มแรกที่เป็นงาน study กู่เฉิงกับแร็งโบ จากหนังแล้วบังเอิญก็ได้ตัวเล่มจากที่อาศรมวงษ์สนิท ซึ่งมีวงทวนกระแส เป็นวงแลกเปลี่ยนกับชาวต่างชาติชื่อจูเลีย เป็นเพื่อนชาวต่างชาติคนเดียวที่เป็นเพื่อนเก่าแก่ มาอยู่อาศรมฯ ในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยน พอเขากลับไปเขาก็ส่งหนังสือ อาเธอร์ แร็งโบ มาให้ หนาเกินสองร้อยหน้า หน้าปกเป็น portrait สีน้ำมัน ของ Penguin ดีเลยน่ะ ผมก็พยายามแปลแบบกระท่อนกระแท่นของผม ผมอ่านแล้วก็เขียนงานไปด้วย เขียนโดยที่ไม่คิดว่ามันจะกลายมาเป็นฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ด้วยซ้ำ

พนา : ได้อ่านฤดูกาลในนรก (2549, ไชน์) ในภาษาไทยด้วยหรือเปล่า

อุเทน : ที่คุณจิตติ พัวพิสุทธิ์ แปล? บางมาก แต่ก็คุ้มที่เขาแปลในขณะที่เรากำลังต้องการพอดี เพราะเรากำลังแปลอย่างกระท่อนกระแท่น อย่างช้าๆ เอื่อยๆ เล่มนี้มายิ่งเติมสปีดให้เราในการเขียน

พนา : กู่เฉิงล่ะ เกิดขึ้นช่วงใกล้กันไหม

อุเทน : กู่เฉิงก่อน แร็งโบผมได้ดูหนังด้วยตั้งแต่ตอนเรียน แล้วก็ชอบแต่พักไว้ ไม่คิดว่าจะมา study งานเขา กู่เฉิงได้อ่านจากสายอาจารย์เรืองรอง รุ่งรัศมี ผมก็นั่งรถไปบ้านอาจารย์เรืองรองเลย จนกระทั่งได้รู้ว่าอาจารย์เรืองรองกับทีมงานสเกลก็ติดต่อกันอยู่ ผมไปบ้านเขาเลยเพราะผมได้บทความกู่เฉิงมา ไปคุยเรื่องบทความกู่เฉิง เรื่องงานต่างๆ ที่สุดแล้วก็เอาใกล้กาลงานให้เขา เขาก็ชอบ ตอนที่เปิดงานครั้งแรกที่อุโมงค์ฯ ที่มีงานเสือตัวนั้น แล้วผมก็เข้าเล่มงานไผ่ไหวน้อยๆ ตอนหลังมันก็มาอยู่ในชุดนี้ — ห้องเรียนแห่งร่องรอย (2561, เหล็กหมาดการพิมพ์) ที่บอกว่ารวมงานตั้งแต่ 2554 ถึง 2558 แล้วหยุดทำไป แล้วก็ทำอีกที่เพื่อจะมาเป็นเล่มนี้ในปี 2561 เสียดายที่ยังไม่มีสำนักพิมพ์ไหนเอาไปพิมพ์

พนา : ใครเป็นคนส่งเข้าประกวด

อุเทน : ส่งเองเลย ใกล้กาลนานส่ง Indy Book Fair 2007 แล้วก็ได้รับรางวัลหนึ่งหมื่นหรือหนึ่งหมื่นสองพันนี่แหละ ก็เอาที่ได้ตรงนั้นมาอยู่นิ่งๆ ไปสะเมิง วัดแม่โต๋ ไปนั่งเขียนงานนิ่งๆ ที่นั่นมีพระรูปนึงชื่อพระชินวร เขาทำโครงการ Second Home เป็นพระแนวเซน ทำงานเกษตร กินเจ เราก็ไปช่วยทำบ้าน ทำน้ำตกเล็กๆ ทำกับข้าว คุยเป็นเพื่อน แล้วก็ช่วยเข้าเล่มให้พระชินวรด้วย เพราะพระก็เขียนบทกวีคล้ายๆ เรียวกัน เขาชอบเรียวกัน นึกถึงแล้วพระชินวรก็เป็นอีกคนในความเป็นกัลยาณมิตร ตอนนี้สึกแล้ว เรียกพี่ชินวรก็ได้ หนานก็ได้ ตอนนั้นสะเมิงมีอะไรที่ไม่น่าเชื่อ ผมไปอยู่ที่วัดแม่โต๋นี่แหละ ตั้งแต่ก่อนจะมีโครงการ Second Home เขาทำสวนแล้วก็กุฏิที่อยู่ลึกเข้าไป เอาไม้มาประกอบ เอาไว้สำหรับปลีกวิเวก ผมขอสิงอยู่สักกุฏินึง มันมีสามกุฏิ พระชินวรอยู่ข้างหน้า จนเขียนอีกเล่มคือฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ จนกระทั่งพระชินวรย้ายออกจากแม่โต๋ไปเป็นเจ้าอาวาสอีกวัดนึง คุณป็อป อารียา กับผู้กำกับก็มาทำหนังเรื่องเด็กโต๋ คลาดกันนิดเดียว พระชินวรย้ายมาอยู่วัดที่ใกล้ตัวตำบลมากขึ้น ต้องทำกิจของสงฆ์มากขึ้น เขาเป็นพระที่ถูกต่อต้านมากที่สุดแล้วมั้ง มีฝรั่ง มีญี่ปุ่น มีทุกชาติมาหา เปรียบเทียบก็เหมือนอาณาจักรแม่แตงของพี่โจน จันได น่ะ ตอนนั้นสนิทกับเขามาก ตอนนี้ไม่ได้ติดต่อแล้ว ตอนที่ผมไปสิงอยู่ผมมีต้นฉบับมาแล้วประมาณนึงแล้วก็มาเขียนเพิ่มจนจบเมื่อต้นปีเดียวกันกับที่ได้รับรางวัล ทันส่งซีไรต์พอดี ส่งแบบงานทำมือเพียงแต่ต้องขอตัวเลข ISBN ตอนนั้นยังของ่าย ไม่คิดว่าจะได้ง่ายขนาดนั้น ได้มาก็ส่งเลย ถ้าขอยากเหมือนตอนนี้ผมคงไม่ส่ง ไม่ชอบอะไรที่ยุ่งยาก เหมือนจะมีข่าวออกมาว่าเป็นหนังสือทำมือเล่มแรกที่ได้เข้ารอบซีไรต์ด้วย อะไรประมาณนี้ สมมติมาเห็นก็เอาไปพิมพ์ เป็นเล่มแรกของสมมติที่พิมพ์งานเรา ระหว่างนั้นก็ทำอีกเล่ม เป็นความเรียง แล้วผมก็ได้ไปทำร้านต้าพอดี นั่นคือแบ็คกราวด์ ตอนนั้นคุณกวิสรา (กวิสรา ม่วงงาม) เป็นบล็อกเกอร์มาเยี่ยมมาถ่ายรูป คุณกวิสราก็เขียนกวีเหมือนกันตอนนั้นแต่เป็นอีกแนวนึง เป็นบล็อกเกอร์ที่มีคนตามเยอะ มีไม่กี่คนหรอกยิ่งเป็นบล็อกเกอร์ชาวพะเยาที่เป็นผู้หญิงแล้วก็เป็นผู้หญิงหวาน สวย เขามาคุยด้วยแล้วก็เขียนแนะนำงานที่ร้านต้าลงบล็อกให้ เพราะพอได้รางวัลผมไม่ได้ลงกรุงเทพฯ นะ มันไม่ใช่รางวัลที่อุเทนต้องมาพูดรอบสื่อ หมายถึงเจ็ดคนนั้นน่ะ ไม่ได้มีนักข่าวหรือโรงแรมโอเรียลเต็ลมาบอกว่าต้องมานะเหมือนศิลปาธร บอกว่าจะออกค่าเดินทางค่าที่พักให้ ที่อยากจะบอกคือสื่อเดียวที่ลงให้คือคุณกวิสรา กับเล่มนี้คุณกวิสราก็เขียนยาวนะ แล้วก็ยกตัวอย่างสองบทพร้อมกับความรู้สึกหลังการอ่าน โดยเฉพาะบทผมโตแล้วนะ ผมก็ชอบนะบทนี้มันบอกตัวผมดีจนถึงเดี๋ยวนี้ กับแม่ผมด้วย “ลูกแม่โตแล้วนะ” เอาไว้อ่านวันหลังก็ได้ เปรียบตัวเองเป็นวัวน้อยไม่อยู่กับร่องกับรอย

พนา : ผมชอบบทนี้ เด็กชายซึมเซาในท้องงูสิบหัว

อุเทน : โยก็ชอบบทนี้ รู้สึกว่าสมาคมนักเขียนจะหยิบไปแปลเป็นภาษาอังกฤษกับมลายู รวมภาษาไทยเป็นสามภาษา เขามีความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียแล้วก็มีทุนพิมพ์หนังสือ เอาไปโดยไม่ได้บอกกล่าวผม แต่ยินดีนะที่จะได้เห็นงานของตัวเองเป็นภาษามลายูว่าหน้าตาจะเป็นยังไง

พนา : พิมพ์เป็นเล่มเพื่อแจกหรือเพื่อขาย

อุเทน : พิมพ์เป็นเล่มเพื่อเผยแพร่ ตอนนั้นเขาจัดประชุมอะไรกัน มันคึกคักนะความเป็นซีไรต์สมัยนั้น มีนักเขียนนักแปลจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน มีการจัดประชุมเพื่อหาแนวทางไปข้างหน้า คึกคัก แถมยังมีบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่ยอมให้มาอยู่ในสเปซของเขา (long list) ช่วงนั้นมันก็มีบล็อกมีอะไร ผมอาจจะได้ข่าวนี้จากคุณกวิสราด้วยซ้ำ

ปกทำมือ ใกล้กาลนาน และ ฤดูมรสุมบนบนสรวงสวรรค์ , 2550

จริงๆ ก็ไม่ได้รู้จักใครมากเพราะไม่ได้ทำบล็อก ไม่มีโน้ตบุ๊ค ผมมีโน้ตบุ๊คครั้งแรกเป็นโน้ตบุ๊คมือสองจากน้องสาวของอังกฤษนะ ห้าพันมั้งซื้อผ่อน หนักมาก สองเล่มแรกผมใช้คอมของอาศรมวงษ์สนิท ของต้าบ้างก็มี พอฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์เป็นที่รู้จัก ผมก็ทำเวอร์ชั่นรวมสองเล่มเป็นฉบับทำมือหน้าหลังประกบกัน ปกเป็น portrait ผมเป็นงานขาวดำ ตอนนั้นสำนักพิมพ์ชายขอบเปิดตัวโดยคุณสฤณี ซึ่งเล่มแรกเขาพิมพ์งานของตัวเอง ไทยแลนด์แดนสวรรค์ ใช้ภาพประกอบของอังกฤษเป็นภาพวาด portrait เขาก็มาเที่ยวเชียงราย กินเกาเหลา พูดคุยด้วย แล้วชายขอบก็มีพื้นที่ให้สองเล่มนี้แหละ — โรคลากไส้ดินสอชั่วลัดนิ้วมือเดียว, ทะเล่อทะล่า 2–3 บรรทัด (2551) ถ้าได้อ่านคำนำก็จะรู้ว่าผมเริ่มจับแนวทางของตัวเอง เช่น ผมจะใช้คำว่า บทกวีสยดแสยะ เปิดตัวที่เชียงใหม่ มีงานทอล์กที่มีกวีร็อกหรือคุณตุลย์ ไวฑูรเกียรติ มาร่วมงาน ช่วยเรียกลูกค้าเพราะตอนนั้นชื่ออุเทนไม่มีใครรู้จัก อังกฤษเขียนคำนิยมให้ ตอนที่เป็นฉบับทำมืออังกฤษช่วยขายให้ ทำหนึ่งร้อยเล่ม ขายหมดเลย มันเป็นช่วงที่คนอ่านหนังสือ มีงาน Indy Bookfair ด้วย ทุกอย่างมันประกอบกันหมด เนี่ยแหละเป็นก้าวที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เดี๋ยวครับ ยังไม่เจอหนาม

กับชายขอบ หลังจากนั้นก็พิมพ์กอปร (2553) เป็นบทกวีฟิสิกส์ดาราจักรแล้วถึงมาลึงค์คดี (2558) อันนี้โอเค แฮปปี้มาก จากนั้นเขาก็พิมพ์งาน ภู กระดาษ งานอะไรอีกเยอะแยะ แต่มันขายไม่ดีนะ ขณะเดียวกันเขาก็ยังจะพิมพ์กอปรให้เรา ผมหวังว่ามันอาจจะเป็น masterpiece ในสิ่งที่ผมพูดถึงเรื่องนอกโลกออกไป ผมใช้เวลาเก็บข้อมูลนานมาก หนึ่งปีครึ่ง แต่ค่าเรื่องที่ได้ตอบแทนมามันไม่ใช่แล้ว มันเริ่มแปลกๆ งาน masterpiece ให้ผมตอบแทนต่ำกว่าไอ้นี้อีก (ทะเล่อทะล่า 2–3 บรรทัด) ก็ตามที่ปกบอกนะ แต่ทำแล้วสนุก แล้วก็บำบัด หาจังหวะหาไวยากรณ์อะไรไป เนี่ย หลังจากที่โรยกลีบกุหลาบ มันก็เริ่มจะเจอขวากหนาม

สมุดโน้ตเล่มนี้ยังอยู่นะ ในงานครบรอบ 25 ปี คณะวิจิตรศิลป์ ผมเป็นหนึ่งในคนที่ถูกเลือกให้เป็นศิษย์เก่าที่มีผลงานยอดเยี่ยม เขาเอาผลงานของผมไปอยู่ในจุดนั้น จัดแสดงงานที่หอศิลปวัฒนธรรมมช. เอาตัวงานเอาสมุดโน้ตต้นฉบับที่เป็นลายมือมาทำเป็น installation จริงๆ สมุดโน้ตที่มีลายมือแน่นๆ แบบนี้มีหลายเล่มอยู่ ปกอ่อนบ้าง เล่มเล็กบ้าง ที่เจอกับอังกฤษล่าสุดมันก็บอกว่าอยากจะเอามารวมเล่ม เข้าเล่มสักหนึ่งร้อยเล่ม ตั้งชื่อว่าสมุดลายมือมนุษย์ต่างดาวก็ได้ คุยกันแบบนี้บ่อย เคยคุยกันเรื่องที่จะทำ text art ที่เป็นลายมือ เหมือนลายมือของเล่มโลกเหลือแค่เราแล้วนะคนดี (2563, เหล็กหมาดการพิมพ์) แต่เป็นผมเองที่คิดว่าลายมือผมมันยังไม่ดี ผมเลยอยากฝึกลายมือ text art ให้มันอยู่จริงๆ ก่อน เหมือนคนที่เขียนอักษรจีนใต้หล้าในหนัง Hero

พนา : พูดถึง text art ผมชอบชิ้นที่ทำกับ ชล เจนประภาพันธ์

อุเทน : ใช่ อันนั้นมันไปอยู่ในอีกพื้นที่นึงด้วย ผมชอบมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือวิ่ง เหมือนรถติดไฟแดงแล้วมีคำว่า ฝ่าฝืนกฎ วิ่งอยู่ ชุดที่เอามาใช้ตอนนั้นเป็นบทกวีที่ไม่มีสระ แต่ตั้งความเร็วช้าๆ นะ ไม่ได้วิ่งเร็วเหมือนทั่วไปที่อ่านไม่ทัน แล้วมีงานที่ใช้เอฟเฟ็คต์แบบไม้บรรทัดสามมิติแบบที่เราเล่นตอนเด็กๆ แต่อันนี้ขยายใหญ่ มันคือก่อนที่จะมาเป็นเล่มนี้ — ทางแยกเวลาในหน้าต่าง (2562) ซึ่งผมไม่คิดว่าผมจะเขียนมันออกมาได้ ตอนที่อัดรายการแล้วพูดถึงเล่มนี้ผมน้ำตาไหลเลยพอนึกย้อน เพราะผมพูดประโยคที่ว่า พอมองย้อนกลับไปผมกลายเป็นสิ่งเหลือเชื่อในตอนนั้นไปแล้วนะ เพราะตอนนั้นผมไม่เชื่อว่าผมจะทำเล่มนี้จนเสร็จในแบบที่ผมขอร้องให้ P.S. ช่วยในการหาคำมาให้ เช่นสมมติคำว่า ใจสลาย คำย้อนหลังของคำนี้ก็คือ สลายใจ

พนา : เขาเป็นคนหาคลังคำให้เรา?

อุเทน : ตอนที่เจอกันก็คุยกันว่าลุย มันมีอีเนอร์จี้อย่างนึงที่ว่ากูไม่ต้องฝ่าฟันที่จะทำตรงนี้ เข้าเล่มอย่างนี้ แล้วขายสี่สิบห้าสิบก็อปปี้ แต่คือทำเพื่อจะเอาลงที่นี่ (P.S) พอขากลับ ถึงหมอชิตแล้วผมตั้งชื่อปกเลย ทางแยก-แยกทาง บทแรกเริ่มเขียนบนรถเลย ใช้เวลาเขียนสองเดือน แต่รู้ว่าในสองเดือนนี้อาการความบ้าของผมที่จะมองป้ายบิลบอร์ดแล้วคิดว่ากลับได้ไหมวะมันจะเต็ม แล้วพอคุยกันว่ามีเวลาสองเดือน ต้องเสร็จต้นปีเพื่อจะได้ส่งซีไรต์ ผมก็คิดไปแล้วว่าซีไรต์ควรจะให้เข้า ไม่ได้บอกว่ามันจะดีแค่บอกว่ามันเป็นอีกมิตินึงที่คนจะมองเห็นว่ามันควรเป็นหนึ่งในแปดเล่ม ไม่ได้หวังชนะนะ คือพอรู้ว่ามันจะมีเล่มนี้ออกมา ผม นิ่ม จุ๋ม ตื่นเต้นกัน มันจะมีงานวิช่วลอาร์ตด้วย มีอะไรหลายอย่างในมิติของกวีนิพนธ์ (ทำไมกระโดดมาคุยเล่มสุดท้ายได้) ที่ผมน้ำตาคลอว่าผมทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในตอนนั้นไปแล้ว ผมก็บอกว่าช่วยสั่งคัทหน่อย

พนา : คือตอนนั้นเชื่อว่าจะทำไม่ได้?

อุเทน : ถ้ามึงไม่เส้นเลือดในสมองแตกตายมึงก็จะรอดกลับมาอยู่ตรงนี้ได้หรือเข้ารอบแปดเล่มซีไรต์ได้ แต่สุดท้ายไม่เข้า งงกันหมด

พนา : แต่สนุกใช่ไหมตอนที่ทำ

อุเทน : สนุกครึ่งแรกไง จนคลังคำหมด แต่ผมดีใจนะเรื่องภาพประกอบที่เขาคิดเรื่องหลังไปหน้า เป็น Rorschach ผมว่าดี, อังกฤษก็ชอบ เหมือนทุกครั้งที่อังกฤษบอกว่าอยากเอาไปแสดง ให้อุเทนเขียนเท็กซ์เป็นลายมือนะ, เอาสีมาละเลงแล้วเอากระดาษมาประกบกัน เขาทำมาเยอะนะ เอามาเลือกกัน

พนา : original เป็นกระดาษอาร์ตมันหรือเปล่า

อุเทน : ใช่ เป็นอาร์ตมัน เวลาแกะออกมากระดาษจะได้ไม่ขาด

พนา : ผมรู้สึกว่ามันต้องมีใครช่วยทำงานกับมันอีกหน่อยที่จะทำให้มันบูม ให้มันถูกหยิบไปอ่านได้กว้างขวาง

อุเทน : ผมเคยเสนอว่าให้ไปเสนอกระทรวงศึกษาธิการเป็นแบบเรียนวิชาภาษาไทยได้ไหม ถ้าเขาเห็นว่าภาษาไทยมันเล่นได้ขนาดนี้น่ะ ถ้าได้นัดปลัดกระทรวงศึกษาธิการอย่างนี้เป็นต้นนะ หรืออะไรก็ได้ให้มันเป็นไปได้จริง มันก็จะได้พิมพ์ซ้ำอยู่ในห้องสมุด

นิ้วมือ ♥ ใบมีด / TRANSLATED BY Mui Poopoksakul

พนา : เรื่องเกี่ยวกับงานเขียนก็มีคนเสนอชื่อพี่เหมือนกันที่เป็นงานแปลภาษาอังกฤษ?

อุเทน : คุณมุ่ย (เลิศหล้า ภู่พกสกุล) เขาชอบของเขาเองแล้วอีเมลมาขอเอางานไปแปล สำหรับเราเหมือนช่วยให้เขาทำโปรเจ็กต์นี้หรือวิชาจบไปโดยที่มีวัตถุดิบของอุเทนบ้าง ปราบดาบ้าง

พนา : ได้ติดต่อกันอีกไหมว่าเขาเอาไปทำอะไรต่อ

อุเทน : รู้สึกว่าเขาจะลองเอาบทที่ไม่มีสระอะไปแปล ผมเลยถามว่าเขามีเล่มอื่นอีกไหม เขาว่ามีเล่มหมวกทรงกลมรอยวนรอบ* ผมยุว่าเออแปลเลย แล้วผมไม่ได้คุยอะไรด้วยต่ออีกเลย เพราะถึงแม้เขาจะแปลเสร็จแล้วส่งมาให้ดูผมก็ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษขนาดนั้นน่ะ ผมจะไปบอกว่าได้ยังไงว่าตรงนี้ไม่ใช่นะ แล้วเขาก็เอาไปบทนึงไม่ใช่ทั้งเล่ม ถ้าจู่ๆ เขาบอกว่าเขาแปลเป็นบทๆ จนกระทั่งมีสำนักพิมพ์ติดต่อมาว่ารวมเล่มได้แล้ว เอออันเนี้ย ผมจะตื่นตัวแบบกระโดดโลดเต้นหน่อยๆ แต่ตอนนี้มันยังไม่มี

พนา : ยากอยู่ การแปลบทกวี แต่คิดว่ารุ่นผมพยายามผลักดันแหละ อยากขยายขอบเขตบทกวี เพราะสนใจอยู่เหมือนกันการแปลบทกวี พูดในฐานะ Gen Y งานล่าสุดที่จัดงานอ่านกวีก็มีคนเขียนบทกวีภาษาอังกฤษเยอะมาก แล้วมีภาษาเกาหลี ภาษาลาวด้วย เขาเขียนมาของเขาเอง งานเป็นรูปแบบเขียนเพื่อมาอ่านออกเสียง เรื่องการอ่านนี่น่าสนใจ อุเทนเคยคิดจะเขียนกวีเป็นภาษาคำเมืองไหมในฐานะที่เป็นคนเมืองคนเหนือ

อุเทน : เคยคิดอยู่ แล้วตอนนั้นเป็นช่วงที่งานของ ภู กระดาษ — ไม่ปรากฏ (2556) ออกมา แล้วพิมพ์กับชายขอบ ผมก็เออมีคนทำออกมาแล้วนี่ ก็ให้เขาทำไป แล้วมันเป็นภาษาท้องถิ่นซึ่งผมก็ไม่ได้อินขนาดนั้น

พนา : แล้วเขียนตัวอักษรพื้นเมืองตัวเมืองได้ไหม

อุเทน : จริงๆ มันไม่ได้มีอะไร แค่ใช้วรรณยุกต์ให้พ้องกับเสียงอู้คำเมืองบ่ดาย แต่ถ้าพูดถึงการใช้ตัวอักษรล้านนาโบราณที่เก่ากว่านั้นอีกก็มีเป็นเล่มเลยแต่ไม่ได้หยิบมาดู แบบ โห คำนี้ชอบ

พนา : มีไหมที่คิดคำในหัวเป็นคำเมืองแล้วมาปรับเป็นภาษากลาง

อุเทน : ไม่มี อย่างคำว่า สยดแสยะ ก็เป็นคำของเราเองที่ไม่ใช่คำเมือง ก็มีพจนานุกรมราชบัณฑิตบ้าง มติชนบ้าง อยู่ข้างๆ อยู่แล้ว ในตอนที่ห้องสมุดพะเยายังไม่มีไวไฟ

พนา : ข้ามมาคุยกันต่อที่เรื่องสั้น เพราะปลายทางของเราคือนิยาย ก็เลยเลือกเรื่องสั้นเพื่อที่จะฝึกฝนมันใช่ไหม เริ่มจากซีรี่ส์ก้นกรอง (ก้นกรอง, ก้นกรองกล่อมเกลา, เลื่อย) ก่อนก็ได้

อุเทน : มันโตมาจาก flash fiction เนอะ แล้วด้วยเป้าหมายที่ว่าผมจะไปจบที่นิยายสักเรื่องนึง ก็เลยเริ่มเขียนเรื่องสั้นที่ยาวขึ้น มีภวาภพ คดฉะอำ ระคนคนละละคร ราเวลา พอจะไปสู่นิยายก็เริ่ม study เรื่องสั้นจากงานแปลมากกว่า งานเรื่องสั้นของคนไทยที่ชอบก็ของวิวัฒน์ซึ่งผมก็ยังรู้สึกว่าเขียนยาวไปอยู่ดี ผมรู้สึกว่ามันมีอากาศหายใจ ถ้าเป็นการเต้นรำก็เหมือนกับฟลอร์และสเต็ปในการเต้นมันอิสระขึ้นมากกว่าโครงสร้างของกวีนิพนธ์ ขณะเดียวกันเราก็อ่านอินโทร จบด้วยไคลแม็กซ์ อ่านเพื่อจะล้มกระดานมัน มันก็เลยมีจังหวะในแบบของมัน ไม่ว่าจะเป็นจังหวะพาออกทะเล แต่ละเรื่องมีจังหวะของมัน ผีก็มีจังหวะของผี ถ้าการทำงานเราวางไว้ เขียนกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น แล้วจบด้วยนิยายสักเล่ม ตอนนั้นผมคงจะมีอายุประมาณเกือบๆ หกสิบแล้วล่ะ เราน่าจะไปทำนิทานเด็กในช่วงที่เราเป็นคนแก่วัยเกษียณ

commonbooks : คิดว่านิยายจะเริ่มเมื่อไหร่

อุเทน : ยัง เรื่องสั้นยังไม่ครบ box set เลย พอถึงตอนนี้ยังบอกไม่ได้เพราะมีเรื่องสุขภาพ เรื่องจิตใจ ตอนนี้ถ้าพลังชีวิตเหลืออยู่เท่านี้ผมก็ยังอยากทำให้มันครบหนึ่งร้อยเรื่อง เหลืออีกสิบสามเรื่องที่โหดอยู่ โดยเฉพาะเล่มสุดท้ายจะเป็นเรื่องนกจิตเภทที่เคาะกรงตัวเองทุกๆ สิบนาที ธีมคือความบ้า ใครที่บอกว่าอุเทนเขียนหนังสืออ่านไม่รู้เรื่องมึงต้องเจอเล่มนี้

พนา : พูดถึงก้นกรอง (2555, ทากเปลือยการพิมพ์) เสียหน่อย

อุเทน : เล่มนี้อังกฤษยังขายให้อยู่ ผมอุทิศให้กับก้อนริดสีดวง ผมไม่น่าเขียนแต่ผมบอกอังกฤษตรงๆ ขนาดคำนำยังเป็นบทกวีเล็กๆ ก้อนริดสีดวงเริ่มทำร้ายผมมากขึ้น พอเป็นริดสีดวงคุณไม่สามารถจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปไหนได้ เหมือนอยู่ติดเตียง ผมก็ใช้เวลาในการอยู่ติดเตียงทำเล่มนี้ออกมา ปวดแสบปวดร้อนก้น พอริดสีดวงยุบแล้วมันยังสนุกที่จะพูดถึงอยู่ เลยออกมาเท่าที่เห็น ก้นกรองคือก้นในมิติแรก ตอนหลังมันมีบริบทสังคมเยอะที่เราอยากจะเล่า

พนา : มันทำให้รู้สึกว่าอุเทนยังอยู่ในเส้นเดียวกับเรานี่หว่า ยังตามการเมือง สังคม

อุเทน : ผมตามด้วยคำว่า กล่อมเกลา เพราะรู้สึกว่ามันเฮงซวย อยากจะบำบัดแล้วกล่อมเกลาตัวเองบ้าง (ก้นกรองกล่อมเกลา — 2560, เหล็กหมาดการพิมพ์) ในที่สุดก็กลายเป็นเลื่อย (2561, commonbooks) มีหมายเรียกจากคอมม่อนบุ๊คสให้ไปที่สน. (พนา : รับทราบข้อกล่าวหาที่วิลล่าคลองทวี) ผมเสนอชื่อ “เลื่อย” เพราะไหนๆ ก็เป็นครั้งแรกที่ผมส่งสี่สิบสี่เรื่องในหนังสือไปให้สำนักพิมพ์เลือกเอาเลย แต่ขอร้องอย่าต่ำกว่าสิบเรื่อง ในความโชคร้ายของผมไง ผมคิดแบบดาร์กๆ คือผมไม่ได้คิดว่าผมเขียนดี แต่มันเป็นไปได้ที่สำนักพิมพ์จะหยิบเกินครึ่ง สุดท้ายเขาเลือกยี่สิบแต่เขาเลือกเองให้มันครบไม่ได้เขาเลยให้ผมช่วยเลือกให้มันครบอีกสองสามเรื่อง

commonbooks: พอมาเล่มเลื่อยเราอยากคัดเลือกเรื่องให้มันเข้มข้นขึ้นในนัยการเมือง

อุเทน : ความอึดอัดในทางการเมืองของเรามันเยอะด้วยตอนนั้น

พนา : ผมสงสัยเพราะอุเทนไม่เคยการเมือง หรือการเมืองมันแฝงอยู่กับอุเทนอยู่แล้ว

อุเทน : ผมสมัครเฟซบุ๊กไง แล้วเห็นคนแชร์ แต่ผมก็จะมีรีแอ็คชั่นในแบบของผม อีกอย่างผมมีโน้ตบุ๊คของตัวเองแล้วด้วยแม้ว่ามันจะช้า อัดอั้นจากการเสพข่าวสาร เล่มนี้ (ก้นกรองทั้ง 3 เล่ม) ถือว่าเป็นผีเสื้อนะ มีวงจรชีพของหนอน ดักแด้ ผีเสื้อ ไข่ เรียกว่ามีสี่ชีวิต มีการกลายของมัน เขาไม่แบ่งนะในทางวิทยาศาสตร์ คือนับเป็นสี่ชีวิตเลย ผมถือว่ามันจบของมัน เริ่มจากก้นกรองแล้วไปจนเลื่อย พูดถึงปกหน่อย เขาทำมาให้เลือกหลายแบบ แต่ปกนี้ลงตัวที่สุด โดยเฉพาะตรงสัน อย่างเท่อะ แล้วก็ได้เข้ารอบปกดีเด่นด้วย หลังจากนั้นอีกปีนึงอุเทนก็ได้เข้ารอบเหมือนกันจากปกเล่มหิมะ เออ เราพูดถึงอุเทนในฐานะคนทำปกด้วยก็ได้นะ

พนา : เราพูดถึงในฐานะ illustrator ไปแล้ว แล้วอุเทนก็เป็นอยู่แล้วเพียงแต่ว่าในการที่ได้ค่าตอบแทนมันโผล่มายุคหลัง

อุเทน : ผมอยากพูดถึงงานอูรักลาโว้ยต่อเพราะมันโยงกับที่ผมอยากทำนิทานเด็กในตอนอายุหกสิบ ถ้าผมยังมีชีวิตต่อไปนะ เพราะการหายใจไปจนถึงอายุหกสิบไม่เคยอยู่ในหัวผม

พนา : เล่าถึงเรื่องสั้นในอากาศหน่อยว่ามายังไง

อุเทน : เพราะว่าทำซีรี่ส์ 8เปื้อน ไม่จบ แล้วผมกับอังกฤษชอบถูกพูดถึงในแง่ที่ว่าสองคนนี้ดีแต่พูด เป็นพวกไอเดียกระฉูดที่ไม่ค่อยทำอะไรเสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน จริงๆ คำว่าดีแต่พูดก็แรงหน่อย มันเหมือนกับฟุ้ง แต่ไม่ใช่ไม่ทำนะ เราอาจจะพูดร้อยแต่ทำสักยี่สิบที่เสร็จจริงๆ ส่วนใหญ่จะฟุ้งมากกว่า ก็เลยเอาความปรามาสตรงนี้มาเล่น ทำไมอะ ฉันจะพูดอยู่ในอากาศแบบนี้ ไม่ต้องให้มันเป็นรูปธรรม เหมือนหนังสือที่ไม่มีไส้ในมีแค่ปก เราทำไปแปดเล่ม ยังไงผมก็จะทำให้ครบสิบ แต่พอดีอังกฤษมีเรื่องส่วนตัวผมก็ไม่อยากเอาอะไรไปรกสมองมัน

พนา : หนนี้อังกฤษใช้ชื่อจริง

อุเทน : มันมองตัวเองเป็นศิลปินไง แล้วมันก็ชอบด้วย แล้วเราเชิญศิลปินมาร่วมเล่าด้วย คือ ปอย ผู้จัดการขัวศิลปะ หรืออีกเล่มเชิญพี่จั้ง ย้อนแยง (ศีลวัตก์ รมยานนท์) คนมาฟังเราเล่าเรื่องก็มีเยอะ โดยเฉพาะคุณอาเธอร์ เป็นคนนอร์เวย์ เขาโทรมาว่าจะมาฟัง เราก็ปวดหัวเลย เขาเคยมากินเกาเหลาแต่ไม่บ่อย มาอยู่เมืองไทยเพราะได้แฟนคนไทย มีบ้านอยู่ที่อีสานแล้วก็ที่เชียงรายด้วย เราคิดว่าถ้าแฟนคนไทยเขามานั่งฟังด้วยจะสะดวกมาก ผมเล่าเป็นภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่น แต่อังกฤษจะค่อนข้างลื่นไหลอยู่ เขาก็พยายามฟังผมนะ เขาบอกว่าถึงจะกระแท่นกระแท่น แต่พอจับใจความได้ มีอยู่วันนึงที่ครอบครัวทางนอร์เวย์มาเขาก็พามาฟังด้วย คุณบี (วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ) ก็ตามมาฟัง วันแรกมีคนมาฟังเยอะ เราชอบที่คนติดกับเรา มีแถลงการณ์เรื่องสั้นในอากาศด้วย เหมือนเวลาเปิดนิทรรศการศิลปะแล้วเจ้าของแกลเลอรี่ก็จะมีคำแถลงก่อนเปิดงานน่ะ เรามีแถลงการณ์เรื่องสั้นในอากาศ ฉบับที่หนึ่ง ฉบับที่สอง … แนบอยู่ในทุกเล่ม เขียนโดยอุเทนครึ่งเอสี่ อังกฤษครึ่งเอสี่ ตอนออกเล่มหนึ่งมีคนนึงที่อีเมลมาถามว่าข้างในหายไปไหน แล้วพอออกเล่มสองเขาก็หายไปเลย จนกระทั่งเล่มสี่เล่มห้าก็เริ่มมีคุณอาเธอร์ คุณบีมาฟัง คุณบีเขาเริ่มรู้จักอุเทนตอนนั้น เอางานมาให้ผมช่วยอ่าน

เรื่องสั้นในอากาศ 04 ปกนี้ เคอร์รี่ผลักดันให้ผมเริ่มใช้ปากกาดรออิ้ง จนผมได้งานชุดปรมาณู ขายได้ด้วย รูปละสองพัน ขายได้แปดรูป แบ่งเปอร์เซ็นต์ให้อังกฤษสามสิบ

พนา : ทุกวันนี้ยังจำเรื่องที่เล่าได้อยู่ไหม

อุเทน : จำได้บ้างถ้ามีเวลานึกทบทวน มันก็คือตั๋วใบนึง (ซื้อเพื่อมาฟังเรื่องเล่า) ถ้ามาแล้วอังกฤษไม่อยู่ก็เจออุเทน เขาจะถามว่าของเรื่องอุเทนเรื่องไหนบ้าง ผมจะนึกทบทวนอยู่สักพักนึง มันจัดในปี 2555 (พนา : ก็เกือบสิบปี) ตอนที่มีงาน Bangkok Art Book Fair อังกฤษก็ฮึดขึ้นมาว่าจะรื้อโปรเจ็กต์นี้มาขาย พอมาเจอเล่มของพี่ไทวิจิตรก็ต้องสวมบทที่จะต้องขาย ความฮึดที่จะรื้อโปรเจ็กต์นี้ก็หายไป อังกฤษมีหลายบทบาท เขาแบ่งร่างไม่ได้ เข้าใจอยู่ ผมชอบปกเล่ม 3 ที่สุดในบรรดาเพราะใช้ภาพถ่ายของเคอร์รี่ เขาเพิ่งกลับจากญี่ปุ่น ถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม แล้วเขาก็ยินดีมาก มาอยู่กับเราสองสามเดือน คุณอาเธอร์ที่มาฟังก็สบายเลย เรื่องสั้นในอากาศเป็นโปรเจ็กต์วรรณกรรมที่อาร์ตมากๆ วิวัฒน์ก็ชอบ ขอบคุณมากที่ชวนคุยเรื่องนี้ ผมลืมไปแล้วว่ามีเรื่องสั้นชุดนี้อยู่ ถ้าพูดถึง box set ตอนนี้ผมมีเรื่องสั้นอยู่สองสาม box set นะ แต่ละ box set สุดท้ายต้องกลับมาทำกับตัวเองถึงจะครบ ทำกับคนอื่นไม่เคยครบ

เหมียวหมึก 00

ตอนที่ผมหยุดไปทำซีรี่ส์แมวผมคิดว่าผมจะได้เรื่องสั้นชุดนี้ด้วย แต่ผมอินกับการพัฒนาซีรี่ส์ชุดแมวของผมจนผมเขียนได้สองเรื่องเอง เราไปอยู่ในโหมดของภาพหมด ซีรี่ส์แมวเริ่มจากขาวดำ ขายหมดเกลี้ยงเลยรูปละสองร้อย แล้วก็เพิ่มมาเป็นห้าร้อย แปดร้อย ล่าสุดที่โชว์ที่ร้านเล่าพร้อมกับใส่กรอบรูปละสามพัน รู้สึกจะเกินห้าซีรี่ส์นะเฉพาะเหมียวหมึก พร้อมกับวิวัฒนาการของมัน มันเพ้นต์แล้วลงตัวมากขึ้นๆ เมื่อเทียบกับรูปแรก พอเราอยู่ในโหมดของภาษาภาพมากขึ้น ภาษาเขียนก็เลยพร้อมที่จะปล่อย ปกติผมเป็นพวกกัดไม่ปล่อย แต่ก็เลยไปจบที่ภาษาภาพ พอทำซีรี่ส์แมวเสร็จก็มาต่อเล่มนี้เลย ร้อยเรื่องสั้นที่คนไทยไม่ต้องอ่าน…ก็ได้ (box set 100 เรื่องสั้น) เริ่มนับเล่มหนึ่งที่โต๊ะตีลังกา แล้วรู้สึกว่าทำไมสนุกจัง พิมพ์ครั้งแรกแปดสิบเล่ม ราคาร้อยยี่สิบ

พนา : แต่กลายเป็นขายยาก

อุเทน : แต่คนก็พูดถึงเยอะ มีคนรีวิวเยอะ

พนา : ซีรี่ส์นี้มาพร้อมเฟซบุ๊กหรือเปล่า เป็นซีรี่ส์ที่เป็นจุดเริ่มที่คนสามารถมองเห็นอุเทนในโลกเสมือนจริง

อุเทน : ใช่ เริ่มรู้สึกว่าอังกฤษมีอะไรต้องทำเยอะ พอจบเล่มเรื่องสั้นในอากาศเขามีเรื่องส่วนตัวต้องจัดการ ก็เป็นจังหวะที่ผมโพสต์เองขายเอง

พนา : ทำไมถึงอยากทำ แรงจูงใจมาจากอะไร

อุเทน : มาจากร้อยเรื่องสั้นที่คนไทยควรอ่าน ต่อมาจากเรื่องสั้นในอากาศนั่นแหละ แล้วก็โต๊ะตีลังกา ยังเป็นแนว improvise เห็นไหม สั้นมาก ขายอยู่ร้อยยี่สิบ จนมาถึงร้อยเก้าสิบเนอะปัจจุบัน แต่เล่มปริศนากลางทางสายกลางขายสองร้อยกว่านะ เพราะมันหนามากแล้วก็ซับซ้อน แนวฆาตกรรมนี่เขียนยากนะ ก็เขียนได้เจ็ดเล่ม ผมก็ควรจะปิดต้นฉบับได้นานแล้ว แล้วก็เล่มนี้-สถานที่ปัจจุบัน ซึ่งเหลืออีกสองสถานที่จะครบ ผมเขียนสิบสถานที่

commonbooks: จำได้ไหมว่ามุขนี้เราเคยใช้ไปแล้ว หรือจำได้ไหมว่าเราลอกงานตัวเอง

อุเทน : เสียวมาก แต่ผมแยกตะกร้าไว้ดีนะ มันมีที่ซ้ำแต่สมมติพอมาซ้ำเรื่องอวัยวะมันก็เปลี่ยนบริบทของมันเอง

commonbooks: แล้วมีไหมที่คิดว่าเคยเขียนไปแล้วแล้วมันยังไม่ถึงใจเลยเอาเขียนใหม่

อุเทน : มี บ่อยเลย เอาเรื่องที่ทำตอนอายุสามสิบมาทำเวอร์ชั่นใหม่ตอนสมมติอายุห้าสิบ ในอีกมุมมองคนสูงวัย คนหมดอายุ แค่คิดนะ

commonbooks: แล้วทำไมยังปิดไม่ลง

อุเทน : มันเป็นเรื่องแนวฆาตกรรม ผมเขียนว่าผมแอบลวงคนมาฆาตกรรมยังไง เช็ดลายนิ้วมือยังไง แล้วทำให้มันดูเหมือนอุบัติเหตุที่สุดยังไง นั่นคือดราฟต์แรก เก็บไว้ เรื่องเดียวกันผมต้องเขียนสามรอบ แล้วอีกภาคผมมาเขียนในฐานะตำรวจ อุเทนภาคแรกมันทิ้งร่องรอยอะไรไว้วะ แอ๊บแบ๊วที่จะไม่รู้ แต่กูเพิ่งทำมันมา เหมือนเรามีอีกบุคลิกนึงน่ะ เอาหลักฐานเล็กๆ น้อยๆ ที่อุเทนพลาดมาใส่ เรื่องบางเรื่องมันเขียนถึงสามรอบถึงจะเป็นเรื่องนึง ผมก็ไม่ไหวว่ะ บางครั้งมันไม่ไหวจริงๆ จนกระทั่งโอ๊ย รื้อหมด นับหนึ่งใหม่ ก็มีนะเพราะมันทนไม่ไหวจริงๆ

พนา : นี่ไงที่เขาแซวกันว่าให้เอาตะกร้าที่ทิ้งไปมาพิมพ์ เรื่องที่ถูกทิ้งของศิลปินศิลปาธร ทำได้นะแต่ต้องทำเรื่องที่อยากทำให้เสร็จก่อน

อุเทน : มันต่อมาจากที่ทำงานกลุ่มแล้วมันไม่จบ แล้วที่ผมบอกตั้งแต่ต้นว่าผมจะทำกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น และนิยาย ช่วงหลังมันก็เลยเป็นเรื่องสั้นที่ขนาดยาวมากขึ้น โดยเฉพาะเล่มหลัง เมื่อเทียบกับเล่มหนึ่งจะยิ่งหนามากขึ้น ทีนี้พอมันชะงักไปกับแนวสืบสวนฆาตกรรม มาทำเล่มบางๆ ทรายอดีต (2562, เหล็กหมาดการพิมพ์) บ้างอะไรบ้าง แล้วทำงานชุดภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศ แล้วมีสำนักพิมพ์หนึ่งติดต่อมาให้ผมทำภาพปก พอผมส่งไปมันไม่ผ่าน ไม่ผ่านแบบไม่มีคอมเม้นท์อะไรเลย เขาให้ผมบรีฟกับนักเขียนด้วยตัวเอง ผมกับนักเขียนบรีฟกันจนผ่านหมดแล้ว แล้วผมให้นักเขียนคนแรกดู เขาก็พอใจที่ได้ปกแบบนี้ อาการเหมือนชั้นบรรยากาศ ใช้เทคนิคเดียวกัน แต่สำนักพิมพ์ไม่เอา ออกนอกเรื่องได้ไง … จริงๆ มันควรจะครบหนึ่งร้อยเรื่องแล้ว แต่แวะไปทำเล่มบางๆ ทำภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศ ทำค้างคาว ทำปก ทำงานอีดิทให้กับนักเขียนอีกสองปกที่จะออกเดือนกันยายนนี้กับเหล็กหมาดฯ เล่มค้างคาวดูดเลือดผมเขียนไว้ว่า 01 เพราะผมมีแผนจะทำ 02 เป็นหมึกแวมไพร์ ค้างคาวดูดเลือดพูดถึงสัตว์บนบกแต่หมึกแวมไพร์ผมจะพูดอารมณ์เดียวกันแต่ไปทางฝั่งท้องทะเล ในแบบที่เหมือนหนีออกจากบ้านนะ ค้างคาวเป็นเล่มที่ออกคู่กับลัดดา แล้วลัดดาออกเล่มสนามเด็กเล่นของปีศาจกับ P.S. แล้วขายดีมาก ติดอันดับหนึ่งของก็องดิดอยู่นานน่ะ รู้สึกดีใจด้วยที่มีงานกวีติดหนึ่งในสิบอยู่ยาวนาน ค้างคาวฯ ขายได้ยี่สิบห้าเล่มเองมั้ง ด้วยสังคมด้วย ด้วยการตลาดด้วย ตอนนั้นคิดว่าออกกับลัดดาน่าจะขายได้สักสี่สิบเล่มนะอย่างน้อย

commonbooks: ปกติพิมพ์กี่เล่มตามฐานลูกค้า

อุเทน : สี่สิบถึงแปดสิบ ขายไม่หมด

พนา : คิดดูว่าเริ่มจากตอนที่มีพลังงานที่จะพิมพ์หนึ่งร้อยเล่ม ตอนนี้เหลืออยู่สี่สิบ ห้าสิบ

อุเทน : เมื่อก่อนไม่มีสมาร์ทโฟนให้เล่น ผมอยากหาใครพิมพ์เล่มนี้นะ (ห้องเรียนแห่งร่องรอย — Poem Class 1–3) ผมอยากปล่อยจริงๆ มันเหมือนของแร็งโบที่ผมได้รวมเล่มมา มันอาจจะเป็นเล่มฉบับตีพิมพ์เล่มสุดท้ายก็ได้ เนื้อหาสำหรับผมแล้ว … พูดแล้วก็เหมือนโปรโมทตัวเอง เนื้อหามันรวม ดูปี พ.ศ. มันสิ แล้วคุณจะไม่พิมพ์เล่มนี้เหรอถึงแม้จะเลือกพิมพ์แค่ครึ่งนึงก็ตาม

พนา : มันคือห้าปีด้วยจำนวนปี ไม่ใช่ห้าปีแบบติดต่อกัน

อุเทน : พักไว้ก่อน ให้มันเป็นแค่ความว้อนท์

พนา : ผมรู้สึกว่าผมยังทำงานกับตัวบทงานอุเทนน้อย ผมรู้จักอุเทนในฐานะกวีและคิดว่าศิลปาธรรอบนี้ได้เพราะกวี ไม่ใช่เรื่องสั้น เราเคยคุยกันเรื่องพล็อตของนิยายที่เขาวางแผนไว้ แต่การปะทะกับเรื่องสั้นผมคิดว่าเขาจะไปถึงไหน ขนาดกวีก็ยังเยอะ

อุเทน : แต่ผมก็พูดไปสุดทางแล้วว่าเล่มจบจะเป็นแนวจิตเภทนิดนึง ซึ่งเสี่ยงกับอาการของผมอยู่แล้ว มันอาจจะจบด้วยการไปเยี่ยมผมไปสัมภาษณ์ผมต่อที่โรงพยาบาลก็ได้

พนา : อุเทนให้สัมภาษณ์ล่าสุดเรื่องห่วงโซ่อาหารว่าความเป็นกวีมันอยู่ในจุดที่ต่ำสุด

อุเทน : เพราะล่าสุดผมฟังที่คุณต้อง (ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ) พูดถึงหมวดหนังสือขายยาก มันเจ็บจี๊ด

พนา : แต่ในอดีตอุเทนเคยพูดว่าสักวันหนึ่งกวีนิพนธ์จะกลับมา

อุเทน : อดีตนานแค่ไหนแล้ว

พนา : แค่จะเช็คว่ายังเชื่ออยู่ไหมว่าวันนึงกวีนิพนธ์จะกลับมา

อุเทน : สำหรับผมมันไม่ได้ไปไหนนะ ผมพูดตอนไหน สมัครเฟซบุ๊กหรือยัง บ้าไปแล้ว สมมติว่าผมพูดนะ กลับมาหมายถึงอะไร ผมพูดให้ตัวเองหรือเปล่า ยิ่งถ้าเป็นตอนที่ผมยังไม่ได้สมัครเฟซบุ๊กผมยิ่งไม่ได้มองภาพหรืออะไรจากใครมาก ผมพูดกับตัวเองหรือเปล่า อย่างเช่นในทางแยกเวลาในหน้าต่างเนี่ย คือกลับมาอยู่ในจุดที่เป็นไปไม่ได้ ที่ผมพูดแล้วน้ำตาคลอ น่าจะเป็นบริบทนั้นนะ ไม่ใช่บริบทการขายหรือคนกลับมาอ่านกันแบบถล่มทลาย

พนา : แล้วยังคาดหวังกับคนอ่านไหม

อุเทน : ก็นี่ไง เล่มที่กำลังหาสำนักพิมพ์ — ห้องเรียนแห่งร่องรอยก็ยังอยากให้มันได้พิมพ์ ไม่ได้คาดหวังมาก หรือต้องติด bestseller … ความคาดหวังแรกมันยังไม่พุ่งชนเลย แต่ในการสร้างพื้นที่ของตัวเอง การรู้ว่ามันมีรุ่นน้องส่งต้นฉบับมาเนี่ย ถ้าผมพูดอย่างนั้นจริง เอาที่ผมพูดตอนนั้นมาเชื่อมต่อกับงานของน้องๆ ที่ผมจะพิมพ์ในอนาคตอีกดีกว่า แต่ถ้าผมพูดตอนนั้นกับผมเอง ผมว่าผมถึงแล้วในเล่มทางแยกของเวลาในหน้าต่าง โดยเฉพาะเคยร่วมทำกับชลด้วย ที่มันออกมาจากพื้นที่การเป็นหนังสือ (พนา : คือใช้ material อื่นแต่ยังเป็นกวี) ถ้าคิวเรเตอร์คนไหนสนใจอยากร่วมผมว่าก็น่าสนุกนะ

พนา : ในบทบาทบรรณาธิการ ที่คุยกันไปยังเป็นเล่มที่รวมหลายคนเขียน แต่ยังไม่ได้คุยเล่มที่เขียนคนเดียว เช่น เล่มไม่ใช่บทกวีของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา

อุเทน : เล่มวิวัฒน์จะไม่ทำสี่สิบเล่มเหมือนพิมพ์งานตัวเองหรอก เพราะ หนึ่ง เขาช่วยออกเงิน สอง มันขายได้ด้วย น่าจะพิมพ์เก้าสิบเล่มมั้งถ้าจำไม่ผิด เล่มชั้นบรรยากาศของการตื่น เป็นเล่มที่คุยกับคุณมาญา เสร็จแล้วนะแต่ไม่ได้เข้าเล่มซะที รู้สึกว่าเขิน มันเป็นความเรียงกึ่งกวีนิพนธ์ เอาจริงเหรอ มันเป็นบทบันทึกตอนที่ผมตื่นมาแล้วผมก็เขียน มันไม่ได้บอกใช่ไหมว่าสี่สิบเก้าบท ทุกๆ เช้าน่าจะเป็นเวลาเดือนครึ่ง เหมือนเป็นชั้นบรรยากาศของการตื่น กลับมาอ่านปุ๊บแล้วรู้สึกว่าใครจะอยากมาอ่านบทบันทึกตอนตื่นนอนของเรา ขนาดเรื่องสั้นคนยังไม่อะไรเลย ใช่ มันอาจจะมีเอ็ม รอนฝันตะวันเศร้า พลอย อะไรพวกนี้ คงได้สักสิบกว่าเล่ม แต่ร่วมงานกับวิวัฒน์สนุกนะ ถ้านับการร่วมงานกับคนอื่น กับวิวัฒน์คือนานสุด บ่อยสุด นับเป็นมิตรในเชิงการเขียน คือในเรื่องความสัมพันธ์ อังกฤษอยู่ในฐานะเพื่อนและแกลเลอรี่ ส่วนวิวัฒน์คือฐานะนักเขียนที่เราชื่นชมไม่พอ ได้ร่วมงานกันด้วย แถมยังช่วยออกเงินและตามงานผมทุกเล่มด้วย แล้วเขาก็ชอบแชร์โพสต์ ตอนที่อุเทนมีเฟซบุ๊กก็เย้ อุเทนมีเฟซบุ๊กแล้ว จำได้เลย

พนา : อุเทนเคยอยากอ่านกวีให้คนฟังใช่ไหม

อุเทน : เออใช่ๆ มันมีหลายโปรเจ็กต์นะ ที่ทำกับชลก็ด้วย ชลใช้รูปแบบทรานซิสเตอร์ ทรานซิสเตอร์ก็โบร้าณโบราณ ดูเก่า อันนี้เป็นอันที่ผมอยากให้มันออกมา ทั้งงานกวีนิพนธ์ที่เป็นแนวซีดี ช่วงนั้นซีดีเพลงยังขายได้ ยังไม่ค่อยโหลดเพลงฟังกัน ใครขับรถไปไหนไกลๆ ก็เปิดฟังงานอ่านบทกวีนี้ เหมือนช่วงแรกๆ ที่ผมรู้จักคุณเก่ง(กฤษณะพล วัฒนวันยู, commonbooks) เขาชวนผมไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนสีน้ำให้นักศึกษาสถาปัตย์อยู่สามวันที่บางมด เขาจะฟังซีดีธรรมะเวลาขับรถ แล้วเวลาฟังเสียงนักพากย์สารคดีมันฟังเพลินดีจัง แล้วผมก็มีงานที่เกี่ยวกับสารคดีเยอะ ผมเลยคิดว่ามันจะไปอยู่ในรูปของซีดีได้ไหม ในตอนนั้นน่ะ … ก็เหมือนทุกครั้ง มันไม่ได้มีอะไรต่อ ก็หยุดอยู่ที่หนังสือ มันไม่ได้ไปอยู่ในพื้นที่อื่นจนกระทั่งมาเจอชล มันได้อยู่ในพื้นทื่อื่นอยู่สามอันเนอะ คือ หนึ่ง ทรานซิสเตอร์ สอง ไม้บรรทัดสามมิติ สาม อักษรไฟวิ่ง เหมือนที่สี่แยกไฟแดงน่ะครับ

นิทรรศการ “Plot Elements | เรื่องราวยังคงดำเนินต่อไป” โดย อุเทน มหามิตร , Gallery Seescape

พนา : แต่การอ่านออกเสียงของผมหมายถึงการจัดอีเว้นต์ที่เชิญกวีมาอ่านหรือพูดให้คนอื่นฟัง ใช้กิริยาของการอ่านเป็น performance

อุเทน : มันไม่เชิงอีเว้นต์ ผมหมายถึงการมีไว้ครอบครองเหมือนซีดีเพลงของป้างนครินทร์

พนา : แต่การไปดูป้างนครินทร์เล่นสดมันอีกฟีลนึงนะ อุเทนเชื่อในการอ่านออกเสียงแบบนั้นไหมในฐานะที่อุเทนเป็นกวี

อุเทน : ผมเชื่อ ผมก็ชอบนะงาน performance ถ้ามันถึงนะ

พนา : แต่ต้องไม่ใช่อุเทนอ่าน? ต้องเป็นคนอื่น?

อุเทน : ผมอ่านได้นะ แต่ผมคงต้องไปฝึกออกเสียงหน่อย ฝึกเปิดคอหน่อย แล้วก็หาจังหวะในการอ่านของตัวเองหน่อย หาอุปกรณ์เหมือนตลกอุปกรณ์ ต้องมีหน่อยไม่ว่าจะเป็นการเขวี้ยงแก้ว ที่ผมเคยดูงาน performance เขาเอาเลือดมาราดตัวอะไรก็แล้วแต่ หรือเอามีดมาสับแขนตัวเอง เอาอึมาป้าย พอคิดถึงงาน perfaomance มันค่อนข้างดุ ไม่ใช่อ่าน หรือการอ่านก็ได้ที่ปลุกด้วยโทนเสียง แต่มันมีอะไรมากกว่าอีกไหม

พนา : มันมีพื้นที่ที่แสดงความเป็นกวีได้มากกว่านั้นอีกอย่างนั้นเหรอที่จะพูด หรือไม่ใช่

อุเทน : จริงๆ ชวนคุยกันดีกว่า ผมยินดีเลย อย่างเช่น อาจจะเขียนถึงภาวะที่คุณรู้สึกว่าชีวิตคุณร่วงหล่น ถ้าคุณรู้สึกอย่างนั้นมาทั้งชีวิตแล้ว แล้วคุณไปอ่านงานของ เจ ดี แซลิงเจอร์ คุณจะรู้สึกว่าคุณเหมือนไอ้โฮลเด้นจริงๆ น่ะใช่ไหม แล้วคุณมาเขียนกวีบทนั้น แล้ววันนึงคุณได้ perform บทกวีบทนั้น คุณก็ใช้วิธีกระโดดลงมาจากตึกเหมือนสวมร่มชูชีพนะ อ่านกวีบทนี้อยู่ แล้วคุณต้องไปเรียนกระโดดร่มก่อน จากตึกใบหยกก็ได้หรือตึกไหนที่เขาอนุญาต

พนา : ต้องเป็นเบอร์นั้นสำหรับอุเทนที่จะ perform บทกวี?

อุเทน : แต่ถ้าเป็นการอ่านบทกวีไปด้วยดื่มไปด้วยผมว่าเบอร์ไหนได้หมดเลย ถ้าแอลกอฮอล์มันทำงานแล้วกับฮอร์โมนของคุณ

พนา : มีเรื่องอะไรที่อุเทนอยากพูดแล้วยังไม่ได้พูด หรือพูดแล้วยังไม่มีใครฟังมันจริงๆ ไหม

อุเทน : วันนี้พอได้พูดแล้วเห็นการเชื่อมต่อเยอะเลย เห็นรอยแผล ทบทวนวรรณกรรม วรรณกรรมแห่งบาดแผล แล้วก็มิตรภาพ วรรณกรรม การค้นพบ การข้ามขีดจำกัดของตัวเอง อะไรที่คิดว่าคงเขียนไม่ได้ถ้าไม่มีผู้ช่วย

พนา : ผมก็ไม่รู้ว่ามันมีไหม จุดบางจุดที่อุเทนยังไปไม่ถึง จุดที่พูดไปแล้วยังไม่มีคนฟังคุณเลย ในสิ่งที่พูดเรื่องเดิมมาสิบกว่าปีแล้ว ผมอยากรู้ว่ามีประสบการณ์นี้ในตัวอุเทนไหมถึงได้ยังอยู่กับการเขียน

อุเทน : มีคนฟังไปแล้วนะ ทำสี่สิบก็อปปี้ขายได้ยี่สิบก็อปปี้ก็ถือว่ามีแล้ว ต้องขยายไปอีกเหรอ หรือยังไง

พนา : ไม่ได้หมายถึงปริมาณ หมายถึงเนื้อเรื่อง เนื้อหาที่อยากบอก

อุเทน : อยากบ่นก็มี เหมือนทรายอดีต หรือโลกเหลือแค่เราแล้วนะคนดี กูไม่รู้ว่ากูจะรู้สึกกับมึงยังไงดีอะ นึกขึ้นได้จากมุมของเอ็มที่ว่าผมอาจจะมีมุมนี้ ผมก็มีมุมนี้ในมุมของผู้อ่านกลุ่มเล็กที่ได้รับสาส์นของผมไป แล้วเขาอ่านไปแล้วเขารู้สึกหรือเข้าใจประมาณสามสิบเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณนั้นครับ แต่อย่างเอ็มเราคุยกันลึกและรู้จักกันแล้ว แล้วคุยนอกเรื่อง มันก็วกเข้ามาเรื่องการทำหนังสือ ที่สุดแล้วการจะเข้าใจคนไม่ใช่อ่านหนังสือของเขา หรือจะเข้าใจแนวคิดของเขาก็ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือของเขา มันรวมถึงการฟังเรื่องส่วนตัวของเขาไปด้วย เหมือนที่ผมพูดนอกเรื่องแล้วเข้าเรื่องส่วนตัว เรื่องพ่อแม่ เรื่องรอยแผลที่ถูกแทง ผมพูดบนเวทีใหญ่ไม่ได้ โดยเฉพาะบทสัมภาษณ์วันนี้

พนา : อุเทนเชื่อว่าการเป็นนักเขียนมันแยกจากการมีชีวิตส่วนตัวไม่ได้ใช่ไหม

อุเทน : คำถามใหญ่จริงๆ สำหรับผมมันแยกไม่ได้ สมมติวันนี้ผมโดนคนตบหน้า แต่คนคนนี้อาจจะเป็นอะไรสักตัวหนึ่ง ผมก็ใช้ symbolic อยู่แล้วในงานผม งานเขียนมันสัมพันธ์กับชีวิต ไม่ได้แยก หรือถ้าจะแยกผมก็แยกเองเพียงเพราะผมอยากจะลืมมันหรือไม่ใส่มันตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ เช่น เจอคนด่ากลางถนน แต่ขณะที่คนที่มากับผมรู้สึกว่าอุเทนไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอ เออ พอดีว่ากูปวดท้อง ตอนนั้นมองหาแต่ห้องน้ำอย่างเดียวเลย แต่ตอนนั้นถ้าผมไม่ปวดเข้าห้องน้ำผมคง … มันขึ้นอยู่กับแรงกระแทกมั้ง

พนา : แปลว่าผู้อ่านไม่จำเป็นต้องรู้จักอุเทนก็ได้นี่

อุเทน : ตามสบายนะ

อุเทนตัดจบด้วยบทสนทนาเพียงแค่นี้ เพราะวงสนทนาของเรากำลังขยายด้วยจำนวนผู้คนและเครื่องดื่มที่ตามเข้ามาสมทบ เราสามคนเห็นพ้องต้องกันว่าคงยุติเครื่องบันทึกเสียงไว้เพียงแค่นี้ บันทึกไว้ในวันที่ 1 กันยายน 2563 ในปีที่เกิดโรคระบาดใหญ่และความเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยที่กำลังร้อนแรง.

  • ตัวเอียงเป็นตัวบทที่ตัดออกจากดราฟท์แรกหลังถอดเทป เป็นเวอร์ชั่นแทรกเพื่อรักษาโทนในการอ่านระยะยาว — ผู้สัมภาษณ์
  • อ้างจากบทสัมภาษณ์อุเทนในเวที “กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับศิลปินศิลปาธร ภายใต้โครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล ‘ศิลปาธร’ ประจำปี พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 6”, “รางวัลนี้ (ศิลปาธร) เป็นแรงผลักที่ยอดเยี่ยมมากๆ ในแบบที่ผมมองไปข้างหน้าแล้วไม่เห็นว่าจะมีรางวัลอะไรที่ไหนที่จะมาเป็นแรงผลัก แต่ตอนที่รู้ผมไม่ได้ดีใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมมีภาวะที่กดอะไรบางอย่างไว้ ผมไม่ได้มีความสุขตลอด (…) ถ้าผมเป็นนกหัวขวานที่เจาะต้นไม้ ใช้เวลาสิบหกครั้งต่อวินาทีในการเจาะ เจาะหนังสือทำมือออกมาปีละสามปกต่อปี แน่นอนว่าสมองมันจะระเบิด มันจะรับไม่ไหว จะประสาทได้ แต่รู้ไหม นกหัวขวานสมองมันอยู่ใต้ขากรรไกร การที่มันต้องเจาะด้วยความเร็วสิบหกครั้งต่อวินาที สมองมันสร้างกลไกกล้ามเนื้อรองรับให้เวลาเจาะแล้วกล้ามเนื้อจะดึงสมองร่นไปข้างหลัง เพื่อที่การเจาะจะไม่กระทบกระเทือนสมองจนเพี้ยนไป ใต้ขากรรไกรก็จะมีลิ้นทำหน้าที่รองรับสมองเป็นเหมือนเบาะรองนั่ง ผมแค่จะบอกว่าผมขอบคุณรางวัลศิลปาธร ถ้าผมเป็นนกหัวขวาน ส่วนของสมองมันเป็นส่วนของผมอยู่แล้ว แต่ผมต้องรับมือไม่ให้สมองผมได้รับความกระทบกระเทือน ส่วนรางวัลศิลปาธรผมเปรียบเป็นแว่นตานิรภัยของนกหัวขวาน เปลือกตาชั้นแรกเอาไว้มอง เปลือกตาชั้นที่สองเอาไว้กันเป็นม่านไม่ให้เปลือกไม้กระเด็นเข้าตาจนตาบอด ถ้าไม่มีแว่นนิรภัยหรือเปลือกตาชั้นที่สองผมคงเดินทางลำบาก”
    (ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=ZiVNGDrbbwc&t=2041s นาทีที่ 1:20:29)
  • ดูผลงานอุเทนชิ้นที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ได้ที่ https://www.poetrytranslation.org/poems/finger-s-blade...
  • ติดตามผลงานของ อุเทน มหามิตร ได้ที่ชั้นหนังสือใกล้บ้านคุณ และที่เพจเหล็กหมาดการพิมพ์ (https://www.facebook.com/Awlbook2020)

--

--

illman

Sorry, I’m not a pure art / also known as พนา เพชรสัมฤทธิ์ (เด็กป่วยในร้านหนังสือ @illmanbookstore )